เมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. พร้อมด้วยนายภูเทพ ทวีโชติธากุล รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และนายนิติพันธุ์ ประจวบเหมาะ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ร่วมกันแถลงผลงานคดีทุจริตไตรมาสแรกปี 2565

เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่าขณะนี้มี 2 คดีที่คืบหน้าไปมากภายหลัง ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด ได้แก่ 1.กรณีการชี้มูล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยมิชอบ มีการตั้งคณะทำงานร่วมพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ระหว่างฝ่ายอัยการ และฝ่าย ป.ป.ช. ขณะนี้ อัยการสูงสุด (อสส.) มีความเห็นควรสั่งฟ้องแล้ว และ 2.กรณีการชี้มูลนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ กับพวก คดีปรับปรุงข้าวส่งออกไปยังอินโดนีเซีย เอื้อประบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด หรือ “คดีข้าวบูล็อค” มีการตั้งคณะทำงานร่วมพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์เสร็จสิ้นแล้ว ขณะนี้ อสส.มีความเห็นควรสั่งฟ้องเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อปี 2563 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กับพวก กรณีใช้อำนาจโอน นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำโดยมิชอบ โดยข้อเท็จจริงพบว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2554 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้โทรศัพท์สั่งการให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ดำเนินการทำเรื่องขอรับโอนนายถวิล จากนั้นสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้มีบันทึกข้อความ ถึง น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เพื่อให้ความเห็นชอบและยินยอมการโอนนายถวิล จากนั้นสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ

โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้อนุมัติให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเป็นวาระจรและในวันเดียวกันคณะรัฐมนตรีได้มีการประชุมและลงมติรับทราบให้โอนนายถวิล จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ได้มีคำสั่งให้นายถวิล มาปฏิบัติราชการ ที่สำนักนายกรัฐมนตรีในตำแหน่งดังกล่าวทันที ซึ่งการแต่งตั้งโยกย้ายดังกล่าว ดำเนินการอย่างเร่งรีบรวบรัด แล้วเสร็จภายใน 4 วัน

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนแล้วเห็นว่า การกระทำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจ ในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทุจริตตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192.