เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 30 มี.ค. ที่รัฐสภา นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กล่าวถึงกรณีกมธ.ซีกรัฐบาลไม่ต้องการบัตรเลือกตั้ง 2 ใบหมายเลขเดียวกัน เพราะกังวลพรรคเพื่อไทยจะได้คะแนนแลนสไลด์ ว่า ที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์มีมติให้แก้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เป็นหมายเลขเดียวกัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อ ต้องการให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง ซึ่งการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยจะประสบความสำเร็จได้ พรรคการเมืองต้องมีความเข้มแข็ง และเพื่อช่วยให้ประชาชนได้มีความเข้าใจในการเลือก ระหว่างพรรคการเมืองกับตัวผู้สมัคร ส.ส.ที่พรรคการเมืองเป็นผู้ส่ง ขณะเดียวกันก็จะทำให้มีสิทธิเลือกต่างกันได้

“ที่สำคัญต้องทำให้มีบัตรเสียน้อยที่สุด เพราะปัจจุบันประชากรที่มีสิทธิเลือกตั้งมีประมาณ 50 ล้านคน ซึ่งรวมถึงผู้สูงอายุและผู้อยู่ในชนบท ซึ่งอาจมีความสับสนและไม่เข้าใจ ดังนั้นถ้าออกแบบตามข้อกฎหมายก็ต้องทำให้การเลือกตั้งตรงกับเจตนาของประชาชนให้มากที่สุดโดยการออกแบบการเลือกตั้งต้องมีความชัดเจน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการทำหน้าที่ประธานการประชุมวันนี้ จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง โดยผมได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่รวบรวมข้อมูลตัวเลขสถิติบัตรเสียในการเลือกตั้ง แต่ละครั้งที่ผ่านมาที่มีกติกาที่แตกต่างกัน เพื่อนำมาเปรียบเทียบกัน พิจารณาให้ครบถ้วน ส่วนความเห็นของแต่ละคนผมก็เคารพเพราะเป็นเอกสิทธิ์” นายสาธิต กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ใช้บัตรเลือกตั้งหมายเลขเดียวกันจะทำให้ประชาชนสะดวกในการใช้สิทธิมากกว่าใช่หรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า คิดเช่นนั้นเหมือนกัน และพรรคประชาธิปัตย์เคยมีประสบการณ์ว่าถ้าแต่ละเขตเลือกตั้งผู้สมัคร ส.ส.กับหมายเลขพรรคคนละเบอร์กัน เวลาลงพื้นที่จะสร้างความสับสนให้ผู้เลือกและผู้รณรงค์หาเสียง เราพบว่าบางกรณี ส.ส.หาเสียงให้แต่ตัวเอง แต่ไม่ยอมหาเสียงให้พรรค ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาพรรคการเมืองอ่อนแอ

เมื่อถามว่า เหตุผลที่มีผู้สนับสนุนให้ใช้คนละหมายเลขเป็นเพราะกังวลว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 90 นายสาธิต กล่าวว่า มีหลายเหตุผล เพียงแต่ว่าที่ฟังในที่ประชุมเข้าใจได้ว่าประชาชนสามารถใช้วิจารณญาณในการแยกบัตรและแยกเบอร์ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นเบอร์เดียวกัน อาจมีความกังวลในเรื่องของข้อกฎหมาย แต่ในการแก้กฎหมายเราสามารถที่จะออกแบบเพื่อที่จะให้ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ อีกทั้งในชั้นของการแก้กฎหมาย เรามีผู้เชี่ยวชาญดูแลและเขียนคำแก้ให้ถูกต้องเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามย้ำว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่หวั่นที่พรรคเพื่อไทยจะแลนด์สไลด์ใช่หรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า หลักการในการแก้รัฐธรรมนูญมี 2 อย่าง คือ 1.ทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง และ 2.ให้ความสะดวกกับประชาชน ถ้าวันนี้แก้กฎหมายเพื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งและเป็นประโยชน์กับอีกฝ่ายหนึ่ง กติกาจะไม่ได้รับความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือ ดังนั้น หากใครแพ้ ใครชนะ ก็จะหยิบยกสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา จนอาจทำให้การเลือกตั้งเป็นปัญหา และเกิดเป็นความขัดแย้งในบ้านเมือง พรรคการเมืองใดจะมาเป็นเพียงสมมติฐานทั้งสิ้น มันเป็นพื้นฐานและต้นทุนที่มีอยู่ แต่สุดท้ายวันเลือกตั้งก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าแก้กฎหมายเพื่อตัวเองหรือเพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็อย่าหวังว่าจะได้รับความเชื่อมั่นกับประชาชน.