การพัฒนาชีวิตมนุษย์ให้เกิดปัญญาที่ถูกต้องดีงามตามหลักทางพระพุทธศาสนานั้น สิ่งที่เกื้อหนุนอย่างหนึ่งที่มีความสําคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการนำพาชีวิตให้ดำเนินทางไปในทางที่ถูกต้อง สิ่งนั้นก็คือ การมีกัลยาณมิตร  

เพราะเหตุว่ามนุษย์นั้นไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่เกิดมาสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้เพียงลำพัง หากแต่ต้องมีพ่อแม่คอยดูแลตั้งแต่วันที่เกิดมาลืมตาดูโลก เมื่อเจริญเติบโตขึ้น คนเราต้องเกี่ยวข้องกับผู้อื่นตามลำดับวัย ตั้งแต่มีเพื่อนเล่นเพื่อนคบหาในวัยเดียวกัน มีครู อาจารย์ ผู้ที่ให้ความรู้ในด้านต่างๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตที่ดีต่อไปในสังคม มีเพื่อนร่วมงาน มีเพื่อนคู่ชีวิต มีเพื่อนร่วมสังคม จะเห็นว่า ชีวิตของคนเรานั้นเกี่ยวข้องกับคนอื่นเสมอในทุกช่วงวัย ตั้งแต่เกิดจนถึงวันที่ต้องละจากโลกนี้ไป” 

“กัลยาณมิตร” หมายถึง มิตรดีหรือมิตรแท้ที่คบหรือเข้าหาแล้วจะเป็นเหตุให้เกิดความดีงามและความเจริญ มิตรที่คบเราโดยไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ส่วนตนเป็นใหญ่ กล่าวคือ เมื่อมีความผูกพันเกิดขึ้นแล้วก็คิดถึงแต่ประโยชน์ของผู้รับเท่านั้น คือ พยายามทุกวิถีทางในการที่จะช่วยเหลือพัฒนาของอีกฝ่ายโดยไม่คิดถึงการตอบแทนในทางผลประโยชน์ 

พระพุทธเจ้า ทรงตรัสว่า กัลยาณมิตรมุ่งหมายเอาคุณงามความดีของบุคคลที่เป็นสหายเป็นมิตรแท้ ชักชวน หรือแนะนําในสิ่งที่ดีมีประโยชน์เกื้อกูล ข้อปฏิบัติขัดเกลาให้มีพฤติกรรมที่ถูกต้องดีงาม ความเป็นกัลยาณมิตรดังกล่าวนี้ นับว่ามีความหมายและความสำคัญมากต่อการพัฒนาชีวิตมนุษย์ 

คัมภีร์พุทธศาสนา ได้แสดงคุณสมบัติของผู้ที่เป็นกัลยาณมิตร เรียกว่า กัลยาณมิตรธรรม ไว้ 7 ประการ คือ 1. ปิโย คือ ความน่ารัก 2. ครุ คือ น่าเคารพ 3. ภาวนีโย คือ น่าเจริญใจในคุณธรรม 4. วัตตา คือ รู้จักพูดให้ได้ผล 5. วจนักขโม คือ อดทนต่อถ้อยคำ 6. คัมภีรัญจะ กถัง กัตตา คือ แถลงเรื่องลึกล้ำได้ 7. โน จัฏฐาเน นิโยชเย คือ ไม่ชักนำสู่ทางเสื่อม  

กัลยาณมิตรเป็นเสมือนผู้รู้ ทำให้สามารถชี้แนะ ชักนำบุคคลอื่นให้สามารถพัฒนาตนเองในทิศทางที่เหมาะสมในทุกด้าน เนื่องจากเคยมีประสบการณ์โดยตรงหรืออาจจะเป็นประสบการณ์ในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน ทำให้สามารถที่จะให้คำแนะนำได้อย่างถูกต้อง และเป็นไปด้วยความรัก ความเมตตา ปรารถนาดี  

เมื่อบุคคลมีกัลยาณมิตรที่ดีแล้ว ก็ทำให้เริ่มมีความเข้าใจหรือเห็นแนวทางการฝึกปฏิบัติเพื่อนำไปสู่แนวทางที่ถูกต้อง ถ้าไม่มีกัลยาณมิตรก็จะไม่มีผู้ที่คอยแนะนำแนวทางที่ถูกต้อง การดำเนินชีวิตก็มีโอกาสเกิดความผิดพลาด หรือดำเนินไปในทางที่ไม่เหมาะสม 

การมีกัลยาณมิตร จึงเสมือนมีมิตรที่ดีที่คอยแนะนำ นำพาให้ได้รับการพัฒนาไปในทางที่ดีที่ถูกต้องและเหมาะสม ด้วยความรัก ความปรารถนาดี ความจริงใจ โดยไม่หวังผลตอบแทน สามารถเป็นเพื่อนแท้ในทางธรรมที่จะช่วยพัฒนาชีวิตให้ก้าวหน้าบนเส้นทางความเจริญงอกงามในระดับโลกิยะ หรือพัฒนาชีวิตให้ก้าวหน้าตามแนวทางอริยมรรคจนบรรลุผลระดับโลกุตระ ถึงความเป็นอิสระจากกิเลสและความทุกข์อันเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาได้  

ดังหลักการคบมิตรของเยาวชนคนปัจจุบันที่ว่า “เพื่อนน้อยแต่ร้อยเปอร์เซ็นต์” 

…………………………………………….

คอลัมน์ : ลานธรรม

โดย : พระสุธีวชิรปฏิภาณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ประธานพระธรรมวิทยากรเครือข่ายธรรมะอารมณ์ดี