ซึ่งหลักใหญ่ใจความมีดังนี้คือ… “หลังจากนำเครื่องวัดแรงบีบมือมาใช้ทดสอบความแข็งแรงกล้ามเนื้อมัดเล็กของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 1,918 คน จาก 70 โรงเรียน ใน 6 จังหวัดพื้นที่ภาคใต้ พบว่า… กว่า 98% ของเด็ก มีแรงบีบมือต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของเด็กวัยเดียวกัน สะท้อนว่า…เด็กกำลังเผชิญวิกฤติภาวะกล้ามเนื้อบกพร่อง” …นี่เป็นข้อมูลน่าตกใจที่ทางคณะวิจัย โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง มอ.หาดใหญ่ ได้เปิดเผยไว้ เพื่อสะท้อนให้สังคมไทยร่วมกันช่วยเหลือเด็กไทย ก่อนจะสายเกินแก้…

ต้องป้องกัน “ภาวะกล้ามเนื้อบกพร่อง”

ที่ “กำลังมีวิกฤติในประชากรเด็กไทย!!”

ข้อมูลข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งจากการศึกษาโดย โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ได้ค้นพบ“ภาวะฉุกเฉินทางการเรียนรู้” อีกแบบหลังคณะวิจัยได้ใช้เครื่องวัดแรงบีบมือนำไป ทดสอบสมรรถภาพความแข็งแรงกล้ามเนื้อมัดเล็กของเด็กนักเรียน ชั้น ป.2 จำนวน 1,918 คน ใน 70 โรงเรียน ใน 6 จังหวัด ได้แก่ สตูล ปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช ยะลา และนราธิวาส ซึ่งมีเด็กถึง 98% ที่มี แรงบีบมือต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ของเด็กในวัยเดียวกัน โดยปกติค่ามาตรฐานจะอยู่ที่ 19 กิโลกรัม ซึ่งจุดที่สำคัญด้วยก็คือ “ภาวะกล้ามเนื้อบกพร่อง” ไม่เพียง “ส่งผลต่อร่างกาย”…

ยัง “ส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้!!”

ทั้งนี้ ในชุดข้อมูลของทางคณะวิจัยโครงการดังกล่าวนี้ได้มีการแจกแจงถึงปัญหาในเรื่องนี้เอาไว้ว่า… สำหรับ “สัญญาณเตือนที่สำคัญ” ที่สะท้อน หรือเป็น “ข้อสังเกต” ว่า… เด็กคนใดเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับภาวะกล้ามเนื้อบกพร่อง? นั่นก็คือ “การจับดินสอที่ไม่ถูกวิธี” ซึ่งเกิดจากการที่กล้ามเนื้อมือไม่แข็งแรง นอกจากนั้น ทางทีมวิจัยยังได้มีการสังเกตพบ “รูปแบบการจับดินสอที่ผิดวิธี” ของเด็ก ๆ ที่ “เสี่ยงเกิดภาวะกล้ามเนื้อบกพร่อง” ว่ามีทั้งหมด 8 รูปแบบ ดังต่อไปนี้…

“กำนิ้วโป้งห่อ” โดยจะเกิดช่องว่างระหว่างโคนนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ที่ค่อนข้างแคบ, “กำนิ้วโป้งซุก” ที่มักจะนำนิ้วโป้งมาจับที่ตัวด้ามของดินสอ และมีช่องว่างระหว่างโคนนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ที่ค่อนข้างแคบ, “ใช้ข้อมือเคลื่อนไหวแทนนิ้ว” เพื่อชดเชยความไม่แข็งแรงของกล้ามเนื้อ, “เหยียดข้อต่อที่นิ้วโป้ง” เพราะขาดความมั่นคง จึงต้องจับดินสอด้วยการใช้ปลายนิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลางแตะที่ตัวดินสอ, “ใช้นิ้วชี้เกี่ยวดินสอ” ที่เกิดจากการขาดความมั่นคงของกล้ามเนื้อบริเวณนิ้วโป้ง

ขณะที่การจับดินสอแบบ “ใช้ปลายนิ้วชี้กับนิ้วโป้งจับดินสอจนแน่น” และ “จับด้ามดินสอไว้ระหว่างนิ้วนางกับนิ้วชี้” รวมถึง “จับดินสอด้วยนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ โดยนิ้วที่เหลือซุกไว้ในฝ่ามือ” นี่จะเป็นรูปแบบการจับดินสอที่บล็อกการเคลื่อนไหวนิ้ว อันเกิดจากการที่กล้ามเนื้อมือมีความบกพร่อง …เหล่านี้เป็นรูปแบบการ “จับดินสอไม่ถูกหลัก-ไม่ถูกวิธี”…

ที่เป็น “สัญญาณเตือน” ให้ “สังเกตได้”

เพื่อจะระวัง “ภาวะกล้ามเนื้อบกพร่อง”

ทั้งนี้ เรื่องการ “จับดินสอไม่ถูกวิธี” นี้ หนึ่งในทีมวิจัยเรื่องนี้ คือ ผศ.อัมพร ศรประสิทธิ์ โค้ชการพัฒนาเด็กปฐมวัย (อนุบาล-ป.3) ของโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง ที่สนับสนุนโดย กสศ. ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมไว้ว่า… การจับดินสอผิดวิธีนั้น สะท้อนถึงการที่… เด็กมีกล้ามเนื้อมือที่ไม่แข็งแรง ซึ่ง… จะส่งผลให้เด็กเรียนรู้ได้ช้า เพราะเด็กมักจะเขียนหนังสือช้า และควบคุมทิศทางการเขียนไม่ได้ ทั้งยังทำงานเสร็จช้าไม่ทันเพื่อน อาจทำให้เด็กเรียนไม่รู้เรื่อง และมีภาวะเครียด จนอาจจะทำให้เด็กไม่อยากไปโรงเรียน และขาดเรียนบ่อย ซึ่งนับเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของเด็ก  ๆ และยิ่งถ้าเด็กถูกเคี่ยวเข็ญดุด่า จะยิ่ง…

กดดัน-เครียด ยิ่งทำให้เรียนรู้ช้าไปอีก!!

ทาง ผศ.อัมพร ยังได้ระบุไว้ในชุดข้อมูลที่มีการนำมาเปิดเผยนี้อีกว่า… ครูและผู้ปกครองทุกคนต้องหมั่นสังเกตและจับสัญญาณจากเด็กให้ได้ โดยการที่เด็กลุกยืน หรือเดินไปมาในคาบสอน อาจไม่ใช่ว่าเด็กมีสมาธิสั้น หรือเป็นเด็กพิเศษ และการไม่ทำการบ้าน ก็อาจไม่ใช่เพราะขี้เกียจ อย่างที่หลายคนด่วนสรุป ซึ่งจากการสังเกตพฤติกรรมเด็กอย่างใกล้ชิดและร่วมประเมินกับครู ได้ค้นพบว่า… ลักษณะดังกล่าวเหล่านั้นมีสาเหตุสำคัญที่เกิดมาจากการที่ “ฐานกายเด็กยังไม่พร้อม!!”

ด้าน ผศ.พรพิมล คีรีรัตน์ อีกหนึ่งในทีมวิจัยเรื่องนี้ ก็ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า… วิธีสังเกตว่าเด็ก “จับดินสอ” ถูกหรือไม่ถูกวิธี ให้ผู้ปกครองหรือครูสังเกตที่ดินสอที่เด็กถือ ถ้าจับไม่ถูกวิธี…ส่วนใหญ่ดินสอจะตั้งตรง และสำหรับ วิธีฝึกจับดินสอให้ถูกวิธี ทำได้โดย ฝึกให้เด็กจับดินสอเป็นแบบ 3 นิ้ว เขียนโดยใช้การเคลื่อนของนิ้ว ข้อมือไม่เคลื่อน ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพการเขียนให้รวดเร็วขึ้น ทั้งยังฝึกระบบรับความรู้สึกและการเคลื่อนไหวให้ทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น ส่วน วิธีปรับการจับดินสอ เพื่อให้เด็ก ๆ สามารถจับดินสอได้ถูกวิธีมากขึ้น ก็ให้ ใช้ลูกบอลหรือปั้นกระดาษเป็นก้อน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกินเหรียญ 5 บาท ให้เด็กนำไปกำไว้ในฝ่ามือ ขณะจับดินสอเขียนหนังสือ …เป็น “คำแนะนำ” เพื่อ “แก้ไขวิธีจับดินสอ”

“จับดินสอผิดวิธี” นี่ “อาจจะเรื่องใหญ่”

อาจบ่งชี้ “เด็กมีปัญหา-เสี่ยงมีปัญหา”

ปัญหานี้ไม่เล็ก “สังเกตเด็กกันด่วน!!”.