น.ส.นพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า  กระทรวงฯ ได้สรุปผลการมอนิเตอร์ และรับแจ้งข่าวปลอมประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 31 ธ.ค. 64–6 ม.ค.65 โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม พบข้อความที่เข้ามา 11,468,179 ข้อความ โดยจากการคัดกรองมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 203 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 104 เรื่อง

ทั้งนี้ ในภาพรวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 104 เรื่อง โดยกลุ่มข่าวเกี่ยวกับโยบายรัฐบาล/ข่าวสารทางราชการ และกลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย มีจำนวนกลุ่มละ 51 เรื่อง ครองสัดส่วนเกือบ 100% ตามด้วยกลุ่มภัยพิบัติ 2 เรื่อง

สำหรับข่าวปลอมที่มีคนสนใจสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 กองประชาสัมพันธ์ กทม. อัพเดทสถานที่เสี่ยงโควิด-19 จำนวน 36 แห่ง อันดับ 2 คณะกรรมการบริหารธนาคารอิสลาม นับถือศาสนาอิสลาม 100% และบริหารโดยคนมุสลิมที่ไม่มีความรู้ด้านการเงินและการบริหาร และอันดับ 3 ใช้แผ่นอลูมิเนียมฟอยล์ห่ออาหารที่ปรุงด้วยความร้อน ก่อให้เกิดโรคอัลไซเมอร์

“จากข้อมูลดังกล่าว พบว่าข่าวปลอมเริ่มกระจายการโจมตีมุ่งสร้างความเข้าใจผิดในประเด็นที่เป็น human interest ได้ครอบคลุมหลายหมวดหมู่ข่าว ดังนั้นขอความร่วมมือประชาชน เมื่อได้รับข้อมูลผ่านโซเชียล อย่าเพิ่งหลงเชื่อในทันที ขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูล แต่ควรตรวจสอบกับช่องทางสื่อสารต่างๆ ขององค์กรที่ถูกอ้างชื่อ หรือแจ้งข้อมูลมายังศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเพื่อช่วยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบ และยืนยันข้อเท็จจริงต่อไป น.ส.นพวรรณ กล่าว

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ได้ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ดังนี้ ไลน์ @antifakenewscenter  เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/ ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87