ปรสิตเม็ดเลือดตัวแรกทำให้เกิดโรคที่มีชื่อว่าไมโคพลาสโมซีสในเลือด (hemotropic mycoplasmosis) หรือบางครั้งเราจะได้ยินอีกชื่อคือโรคเลือดจางติดต่อในแมว (feline infectious anemia, FIA) ลักษณะเด่นของโรคทำให้เกิดภาวะเลือดจางจากการสลายของเม็ดเลือดแดง ภาวะดีซ่าน โรคนี้พบในแมวทุกช่วงอายุ เชื้อก่อโรคเป็นแบคทีเรียแกรมลบอยู่ในสกุล Mycoplasma มีขนาดเล็กมาก มีลักษณะเป็นรูปแท่ง ทรงกลมหรือวงแหวน เกาะที่ผิวเม็ดเลือดแดง อาการทางคลินิกมีความสัมพันธ์กับระยะก่อโรคของเชื้อ โดยแบ่งเป็นระยะเฉียบพลัน ระยะฟื้นตัว และระยะกักโรค ในระยะเฉียบพลันค่าเม็ดเลือดแดงของแมวที่ติดเชื้อจะลดต่ำลงมาก และแมวจะเสียชีวิตในระยะนี้ ระยะฟื้นตัวจะเกิดขึ้นเมื่อแมวสามารถรอดชีวิตจากระยะเฉียบพลัน ร่างกายยังมีเชื้ออยู่บนผิวเม็ดเลือดแดง แต่อยู่ในปริมาณที่น้อย ค่าเม็ดเลือดแดงจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นสู่ระดับปกติหรือใกล้เคียงปกติ ส่วนระยะกักโรคแมวจะไม่แสดงอาการทางคลินิก ค่าเลือดอาจจะต่ำเพียงเล็กน้อย เชื้อจะหลบอยู่ในร่างกาย เมื่อสัตว์มีความเครียดเชื้อจะกลับมาก่อโรคอีกครั้ง การติดต่อของโรคเกิดจากปรสิตภายนอกของแมว เช่น หมัดหรือยุงที่มีเชื้อมากัด การติดต่อทางเลือด เช่น การให้เลือด หรือการกินเลือดที่ติดเชื้อจากแมวตัวอื่นที่เกิดในระหว่างกัดกัน ซึ่งพบว่าแมวเพศผู้มีโอกาสได้รับเชื้อชนิดนี้ได้มากกว่าเพศเมีย เนื่องจากพฤติกรรมที่ออกไปข้างนอกบ้านและกัดกับแมวตัวอื่น นอกจากนี้ยังพบว่าเชื้อสามารถติดต่อผ่านรกหรือระหว่างคลอดได้

ปรสิตในเม็ดเลือดอีกชนิดมีชื่อว่า ไซทอซซูน เกิดจากเชื้อโปรโตซัวที่มีชื่อว่า ไซทอซซูน เฟลิส (Cytauxzoon felis) เป็นปรสิตที่พบในเม็ดเลือดแดง การติดต่อเกิดจากเห็บกัด อาการที่พบได้บ่อยคือค่าเม็ดเลือดแดงจะลดลงอย่างชัดเจน รวมไปถึงพบอาการไข้สูง โลหิตจาง และภาวะดีซ่าน อาจพบอาการทางระบบประสาทได้ในช่วงท้ายของการติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม แมวบางตัวไม่แสดงอาการทางคลินิก ถึงแม้ว่าจะตรวจพบเชื้ออยู่ในเม็ดเลือดแดงก็ตาม

โรคพยาธิหนอนหัวใจในแมว (feline heartworm disease) เป็นโรคที่พบได้ในแมวถึงแม้ว่าอุบัติการณ์ของโรคนี้จะพบได้มากในสุนัขก็ตาม แมวส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อมักไม่แสดงอาการผิดปกติ อย่างไรก็ตามการติดพยาธิชนิดนี้ในแมวอาจทำให้แมวเสียชีวิตได้ ปรสิตที่ก่อโรคเป็นพยาธิตัวกลมที่มีชื่อว่า Dirofilaria immitis พยาธิตัวเต็มวัยอาจจะเข้าไปอาศัยในหลอดเลือดแดงและทำให้เกิดการอักเสบที่บริเวณหลอดเลือด อาการทางคลินิกจะเริ่มเห็นได้ชัดเมื่อพยาธิตัวเต็มวัยเข้าไปอยู่ในหลอดเลือดแดงในปอด ซึ่งแมวจะแสดงอาการไอ หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด นอกจากนี้ อาจจะพบการอาเจียนหรือแมวมีอาการทางระบบประสาท นอกจากระยะตัวเต็มวัยที่ก่อให้เกิดอาการทางคลินิกแล้ว ตัวพยาธิที่ตายและเริ่มถูกย่อยสลายในหลอดเลือดแดงที่ปอด ทำให้เกิดการอักเสบของเส้นเลือดและเกิดลิ่มเลือดอุดตัน (thromboembolism) การติดต่อของโรคนี้ในแมวเกิดจากยุงที่มีเชื้อมากัด และปล่อยระยะตัวอ่อนของพยาธิเข้าสู่กระแสเลือด ในประเทศไทยยุงที่เป็นพาหะที่สำคัญได้แก่ ยุงรำคาญ (Culex spp.) ความชุกของการติดพยาธิหนอนหัวใจทั้งในสุนัขและแมวจะขึ้นอยู่กับการระบาดของยุงในพื้นที่ นอกจากพยาธิหนอนหัวใจชนิด Dirofilaria immitis ที่พบในแมวแล้ว ยังพบพยาธิในกลุ่มของบรูเกีย (Brugia spp.) ซึ่งกลุ่มพยาธิดังกล่าวมีความสำคัญในระบบสาธารณสุขเนื่องจากก่อโรคเท้าช้างในคน ซึ่งแมวจัดเป็นสัตว์รังโรค (reservoir host) ตัวพยาธิจะอาศัยอยู่ในระบบน้ำเหลืองในแมวที่ติดเชื้อ โดยแมวจะไม่แสดงอาการทางคลินิกให้เห็น อย่างไรก็ตามแมวบางตัวอาจจะสังเกตเห็นต่อมน้ำเหลืองโตได้

การควบคุมและกำจัดปรสิตภายนอก เช่น เห็บ หมัด และแมลงดูดเลือด เป็นวิธีที่สำคัญและมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดปรสิตในเลือดและในเม็ดเลือดของสัตว์เลี้ยง เนื่องจากปรสิตภายนอกเป็นพาหะที่นำเชื้อต่าง ๆ มาสู่สัตว์เลี้ยง ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์มากมายที่นำมาใช้ควบคุมปรสิตภายนอก อย่างไรก็ตาม ผู้เลี้ยงจะต้องศึกษาถึงข้อบ่งใช้ในสัตว์เลี้ยงอย่างละเอียด หรือปรึกษากับสัตวแพทย์ในการใช้สารเคมีเพื่อควบคุมปรสิตภายนอก รวมไปถึงการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ การหมั่นสังเกตความผิดปกติของสัตว์เลี้ยงจะช่วยให้เพิ่มโอกาสในการนำสัตว์เลี้ยงมาพบสัตวแพทย์ได้เร็วมากขึ้น ทำให้สัตว์เลี้ยงได้เข้ารับการรักษาในระยะเริ่มต้นของการติดเชื้อ ส่งผลให้สัตว์เลี้ยงหายจากอาการป่วยได้เร็วขึ้น

โรคติดเชื้อในแมวยังมีอีกมาก ในบทความนี้เพียงยกตัวอย่างเชื้อปรสิตในเลือดและในเม็ดเลือดที่พบได้บ่อยในแมว เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้เลี้ยงแมวได้ตระหนักถึงผลเสียของปรสิตที่ก่อโรค และรู้ถึงการติดต่อของโรคดังกล่าว ทั้งนี้วัตถุประสงค์หลักคือต้องการให้ผู้เลี้ยงหันมาใส่ใจ ในการควบคุมปรสิตภายนอกเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อในแมว รวมไปถึงการดูแลสุขภาพเบื้องต้น เพื่อให้สัตว์เลี้ยงมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป.

บทความโดย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สัตวแพทย์หญิงจารุญลักษณ์ จิรภัทรเศรษฐ์
ภาควิชาปรีคลินิกและสัตวศาสตร์ประยุกต์ คณะสัตวแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดล