ผลักดันกันมากว่า 10 ปี สำหรับโครงการก่อสร้างทางพิเศษ (ทางด่วน) สายกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต ระยะทาง 3.98 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 14,670 ล้านบาท ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กพท.) กับ 2 ความพิเศษ ทางด่วนสายแรกในต่างจังหวัดและทางด่วนเส้นแรกของประเทศไทยที่อนุญาตให้รถจักรยานยนต์ (จยย.) หรือมอเตอร์ไซค์ขวัญใจของสายแว้นสามารถใช้บริการได้

เพื่ออำนวยความสะดวก เพิ่มความรวดเร็วในการเดินทาง บรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด และลดอุบัติเหตุบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4029 (กะทู้ป่าตอง) เส้นทางหลักจากตัวเมืองภูเก็ต ผ่าน อ.กะทู้ ไปยังหาดป่าตอง

โครงการนี้เริ่มศึกษามาตั้งแต่ปี 53 สถานะล่าสุด กทพ. ได้ลงนามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) และหนังสือการรักษาข้อมูลเป็นความลับและไม่มีส่วนได้เสีย กับผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรมแล้ว หลังจากนี้จึงสามารถเดินหน้าขั้นตอนการประกวดราคา (ประมูล) ได้ โดยผู้สังเกตการณ์จะเข้าร่วมทุกเรื่อง ตั้งแต่การจัดทำร่างประกาศเชิญชวน, ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal : RFP), ร่างสัญญาร่วมลงทุน และการคัดเลือกเอกชน เพื่อแสดงให้เห็นว่าการดำเนินงานในทุกขั้นตอนมีความโปร่งใส ยุติธรรม และตรวจสอบได้

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. ไล่เลียงไทม์ไลน์การดำเนินงานให้ฟังว่า เดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้ จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน และผู้เกี่ยวข้อง (Market Sounding) เกี่ยวกับสาระสำคัญของร่าง RFP และร่างสัญญา จากนั้นจะรวบรวมความคิดเห็นพิจารณาปรับปรุงร่าง RFP ก่อนเสนอคณะกรรมการ ม.36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 พิจารณาเห็นชอบร่าง RFP และร่างสัญญาต่อไป คาดว่าจะประกาศเชิญชวนเอกชนได้ปลายปี 65 ยื่นข้อเสนอฯ ไม่เกินกลางปี 66 ลงนามสัญญาปลายปี 66 ก่อสร้างต้นปี 67 และเปิดบริการปลายปี 70

โครงการทางด่วน สายกะทู้-ป่าตอง มีความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ มีอัตราผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (EIRR) เท่ากับ 20.44% เป็นการร่วมลงทุนรูปแบบ PPP Net Cost ในลักษณะของ BTO โดยรัฐรับผิดชอบการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ขณะที่เอกชนรับผิดชอบออกแบบรายละเอียด และการก่อสร้าง รวมถึงการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) โดยเอกชนเป็นผู้จัดเก็บรายได้ค่าผ่านทางทั้งหมด มีระยะเวลาร่วมลงทุน 35 ปี

“กทพ. กำลังเร่งทบทวนวงเงินลงทุนอีกครั้ง เนื่องจากปัจจุบันราคาเหล็ก และราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวสูงขึ้น คาดว่าน่าจะปรับขึ้นอีกประมาณ 5% เหมือนกับโครงการก่อสร้างทางด่วน สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ตัวเลขวงเงินลงทุนที่จะเพิ่มขึ้นชัดเจนนั้น กทพ. ต้องให้ได้ข้อสรุปก่อนเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน” ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวถึงผลกระทบที่ได้รับ

นายสุรเชษฐ์ แจกแจงด้วยว่า ทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง มีรูปแบบเป็นทางยกระดับ มีอุโมงค์ช่วงกลางของแนวเส้นทาง ขนาด 8 ช่องจราจร หรือไป-กลับฝั่งละ 4 ช่อง แต่ละฝั่งแบ่งเป็น รถยนต์ 2 ช่อง และรถ จยย. 2 ช่อง มีแผงคอนกรีต (แบริเออร์) สูงประมาณ 1-1.20 เมตร วางกั้นตรงกลางระหว่างช่องรถยนต์ และรถ จยย. เพื่อไม่ให้รถยนต์หรือรถ จยย. เปลี่ยนช่อง อีกทั้งเมื่อเกิดอุบัติเหตุรถชนจะได้ไม่กระเด็นข้ามช่องด้วย จะช่วยเซฟตี้ได้มาก

“การเปิดให้รถ จยย. สามารถขึ้นทางด่วนได้เป็นสายแรกเป็นไปตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ กทพ. ได้สำรวจไว้ก่อนเริ่มโครงการ อีกทั้งสภาพการจราจรจริง ยังพบว่าในพื้นที่กะทู้-ป่าตอง มีสัดส่วนการใช้รถ จยย. ครึ่งหนึ่งของรถยนต์ และจากการศึกษาดูกฎหมายของ กทพ. พบว่า สามารถทำได้ อย่างไรก็ตามเบื้องต้นในอุโมงค์จะกำหนดความเร็วให้ใช้ได้ไม่เกิน 80 กม.ต่อชั่วโมง (ชม.) ขณะที่ทางยกระดับวิ่งได้ 100 กม.ต่อ ชม.”

นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า ทางด่วนสายนี้ มีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมกับถนนพระเมตตา ในพื้นที่ ต.ป่าตอง อ.กะทู้ เป็นทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจรต่อทิศทาง ยกระดับข้ามถนนพิศิษฐ์กรณีย์ จนถึงเขานาคเกิด ระยะทาง 0.9 กม. แล้วจึงเป็นอุโมงค์ลอดเขานาคเกิด ระยะทาง 1.85 กม. หลังจากผ่านช่วงภูเขาจึงเป็นทางยกระดับ ระยะทาง 1.23 กม. จนสิ้นสุดโครงการในพื้นที่ อ.กะทู้ บริเวณจุดตัดกับ ทล.4029 มีด่านเก็บค่าผ่านทางอยู่บริเวณด้านกะทู้ 1 ด่าน เก็บค่าผ่านทาง 2 ทิศทาง มีทางขึ้น-ลง 2 จุด ได้แก่ บริเวณจุดเริ่มต้นโครงการ (ด้านป่าตอง) และบริเวณจุดสิ้นสุดโครงการ (ด้านกะทู้)

เบื้องต้นจัดเก็บค่าผ่านทางรถ จยย. 15 บาท,รถ 4 ล้อ 40 บาท, รถ 6-10 ล้อ 80 บาท และมากกว่า 10 ล้อ 125 บาท รูปแบบเก็บเงินค่าผ่านทางของรถยนต์เป็นระบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) ส่วนรถ จยย. อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะเป็นรูปแบบอัตโนมัติ (M-Flow และอีซี่พาส) หรือเงินสด คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ คาดการณ์ว่าในปีแรกที่เปิดบริการ จะมีรถใช้บริการประมาณ 71,000 คันต่อวัน แบ่งเป็น รถยนต์ 36,000 คันต่อวัน และรถจักรยานยนต์ 35,000 คันต่อวัน

กทพ. ยังมีแผนก่อสร้างทางด่วนส่วนต่อขยายสายสนามบินภูเก็ต-เกาะแก้ว-กะทู้ ระยะทาง 35 กม.ด้วย อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียด คืบหน้าประมาณ 10% จะพยายามเร่งรัดการดำเนินงาน เพื่อให้การก่อสร้างแล้วเสร็จ และสามารถเปิดให้บริการได้พร้อมกับทางด่วน สายกะทู้-ป่าตอง ในปลายปี 70 เมื่อถึงเวลานั้นการเดินทางของประชาชน และนักท่องเที่ยวจะสะดวกสบายมากขึ้น

นับถอยหลังทางด่วนสายแรกของต่างจังหวัดและทางด่วนเพื่อสายแว้นเส้นแรกของไทย.

————————————
คอลัมน์ มุมคนเมือง
โดย ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง