“ภาษีลาภลอย” หรือ Windfall Tax กลายมาเป็นที่คุ้นหูกันอีกครั้ง หลังจากผู้นำ “พรรคกล้า” ได้ออกมาสอนมวยทีมเศรษฐกิจของ“ลุงตู่เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำมันแพง

โดยหนึ่งในข้อเสนอที่ว่า…ได้ระบุให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีลาภลอย เพราะเห็นว่าส่วนต่างจากราคาการกลั่นน้ำมัน ถือเป็น ราคาลาภลอย ให้กับบริษัท ทำให้ได้กำไรจากส่วนต่าง จึงควรเก็บภาษีเพื่อนำกำไรที่เกิน มาช่วยเหลือประชาชน และนำมาช่วยในกองทุนน้ำมันต่อไป

“ลาภลอย” ในกรณีนี้ อาจถือได้ว่าเป็นกำไรของบริษัท หรือโรงกลั่นน้ำมัน ที่พรรคกล้า มองว่าเป็นรายได้ส่วนเกินและมีจำนวนมาก ที่ในเวลานี้ ถึงเวลาที่โรงกลั่นน้ำมันควรหันมาให้ความช่วยเหลือประชาชนกันบ้าง

แต่ในกรณีของ ลาภลอย จริง ๆ แล้ว ความหมายก็คือ สิ่งที่ได้มาโดยไม่คาดคิด

ที่ผ่านมา…เมื่อปี 61 รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยให้ความเห็นชอบ กฎหมายเก็บภาษีลาภลอย หรือพ.ร.บ. ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ไปแล้ว ควบคู่ไปกับพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ภาษีลาภลอย คือ ภาษีที่เก็บจากผู้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาโครงการของรัฐ เนื่องจากการพัฒนาโครงการของรัฐ เช่น รถไฟฟ้า สนามบิน ถนน ฯลฯ ทำให้ที่ดินในบริเวณใกล้เคียงโครงการมีราคาสูงขึ้นมากเป็นพิเศษ

ทำให้บรรดาเจ้าของที่ดินเหล่านั้น ร่ำรวยมั่งคั่งขึ้น โดยไม่ได้ลงทุนเอง เป็น ‘ลาภลอย’ ที่ได้มาเปล่า ๆ ซึ่งภาษีรูปแบบนี้ไม่ใช่ของใหม่ เพราะในหลายประเทศทั่วโลกใช้กันอยู่แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

แต่!! จนถึงเวลานี้กฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา และมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย มีเพียงกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เท่านั้น แต่พ.ร.บ.ภาษีลาภลอย กลับหายวับ!!

ก็น่าจะเป็นเรื่องที่คาดการณ์กันได้ หากคลอดออกมา บรรดาเศรษฐี ทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ โอดครวญไม่เลิกกันแน่!! เผลอเก้าอี้รัฐบาลเองอาจสั่นคลอนไม่น้อย

ดูอย่าง…กฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แม้มีผลบังคับใช้กันแล้ว แต่ก็มีการอนุโลม มีการผ่อนปรน กันให้เห็น ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ยังลูกผีลูกคน หากรัฐเดินหน้าจัดเก็บแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย เชื่อเถอะ!! เสียงกร่นด่าจะยิ่งดังขึ้น

ส่วนกฎหมายภาษีลาภลอย น่าจะถูกหมกไว้ก่อน เพราะไทม์มิ่ง หรือจังหวะเวลายังไม่ใช่ ต่อให้…ราคาที่ดิน ราคาอสังหาริมทรัพย์ พุ่งทะยานจนเกิด เศรษฐีที่ดิน จำนวนไม่น้อยก็ตาม

ใคร? ต้องเสีย ภาษีลาภลอย!!

ผู้มีหน้าที่เสียภาษี คือ เจ้าของที่ดินหรือผู้ที่ครอบครองที่ดิน หรือเป็นเจ้าของห้องชุดที่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่า 50 ล้านบาทขึ้นไป ทั้งโครงการแนวราบ ทั้งบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์ด้วย ที่รอการขาย

โดยอสังหาริมทรัพย์เหล่านั้น อยู่ใกล้สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ท่าเรือ สนามบิน โครงการทางด่วนพิเศษ ในรอบพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตร โดยมีเพดานภาษีไม่เกิน 5%

ทั้งนี้ทั้งนั้น! เรื่องราวของภาษีลาภลอย ได้มีการหยิบยกมาพูดกันอีกครั้งโดย “กระทรวงการคลัง” แต่ก็มีข้อแม้ว่า การรื้อฟื้นกฎหมายฉบับนี้จำเป็นอย่างยิ่งต้องอยู่ในช่วงที่เหมาะสม!!

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

คำถาม? จึงอยู่ที่ว่า แล้วช่วงไหน? ที่เรียกว่าเหมาะสม… อย่าลืมว่าก่อนหน้านี้ เพียงแค่ ขุนคลังอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ออกมาให้ข่าวการเดินหน้าเก็บภาษีการขายหุ้น หรือ Financial Transaction Tax โดยจะเสนอให้ครม.พิจารณา เพื่อออกเป็นพระราชกฤษฎีกาประกาศบังคับใช้ในลำดับถัดไป

บรรดานักลงทุนต่างออกมาคัดค้านกันเสียงแข็ง ทั้งสภาตลาดทุนไทย หรือเฟทโก หรือแม้แต่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือตลท. เองก็ตาม เพราะในเวลานี้ ยังไม่ใช่เวลาที่สมควร

แม้กระทรวงการคลัง จะยืนยัน…นอนยัน… นั่งยัน ว่าการดำเนินการเรื่องภาษี ไม่ว่าจะเป็นภาษีการขายหุ้น ภาษีบาปหรือภาษีลาภลอย เป็นเพียงแค่การปฎิรูปโครงสร้างภาษีเท่านั้น

ในเวลาเช่นนี้ ในเวลาที่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศ กำลังอยู่อย่างยากลำบาก หากภาครัฐหยิบยก เรื่องบาดใจอย่าง “ภาษี” มาตอกย้ำให้เจ็บช้ำระกำทรวงเข้าอีก

เชื่อเถอะ…ระยะเวลาที่นั่งนับวันรอ จะยิ่งสั้นหนักเข้าให้อีก!!

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู