แวดวงการศึกษาไทยเกิดกระแส “ปุจฉา” เซ็งแซ่ขึ้นอีกครั้งกับ “กรณีการบ้าน” โดยมีผู้ปกครองรายหนึ่งโพสต์ภาพบุตรวัยเรียนที่ล้มลงนอนกับพื้น โดยเสื้อผ้าเปรอะเปื้อนไปด้วยคราบอาเจียน ซึ่งผู้โพสต์รายนี้ได้เขียนข้อความระบุประมาณว่าบุตรของตนเองต้อง “น็อกวูบหมดสติ!!” โดยเกิดจากความ เครียด และ ต้องนอนดึกติดต่อกัน มานานเกือบ 2 เดือน เพราะ “ต้องทำการบ้านจำนวนมาก??” เพื่อให้ทันส่งครูก่อนสอบมิดเทอม …ซึ่งนี่ก็นำมาซึ่งกระแส “ปุจฉาการบ้านนักเรียน??”

กับเด็กรายดังกล่าวนี้ยังไงกันแน่??…ก็ส่วนหนึ่ง…

ที่แน่ ๆ…”การบ้านนักเรียนเยอะ…นี่มิใช่เรื่องใหม่”

กรณีดังกล่าวนี้ “ที่ผ่านมาก็เคยมีกระแสปุจฉา??”

ทั้งนี้ กรณี “ปริมาณการบ้านของเด็กนักเรียนไทย” นั้น ในอดีตก็เคยมีกระแสปุจฉา “เยอะเกินไปหรือเปล่า??” อยู่เนือง ๆ และย้อนดูกันไม่ต้องไกลมาก ดูแค่ช่วงที่ในไทยยังมีสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดรุนแรงเมื่อปี 2564 ที่ทำให้โรงเรียนต่าง ๆ ต้องจัดให้ “นักเรียนต้องเรียนออนไลน์” ในช่วงนั้นก็เคยเกิดกรณีเซ็งแซ่เกี่ยวกับ “การบ้าน” หลังจากมีนักเรียนรายหนึ่งเกิด “น็อกวูบหมดสติ” จากความเครียดที่ต้องทำการบ้านให้เสร็จทันตามกำหนดที่คุณครูได้ให้มา ซึ่งก็ทำให้หน่วยงานด้านการศึกษาของไทยต้องออกมาให้ “นโยบายใหม่” กับ “ครู-โรงเรียน” ด้วยการ ให้ปรับเปลี่ยนแนวทางการให้การบ้าน เพื่อ “ลดปัญหาเด็กเครียด” จาก “การบ้านจำนวนมาก” ท่ามกลางเสียงตอบรับจากเหล่าพ่อแม่-ผู้ปกครอง

และเกี่ยวกับกรณี “การบ้านของเด็กนักเรียนไทย” นี่วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็จะสะท้อนต่อชุดข้อมูลที่น่าพิจารณา โดยเรื่องการบ้านเด็กนักเรียนนั้น ย้อนไปปี ค.ศ. 2012 ก็เคยมีการเผยแพร่ผลการสำรวจเกี่ยวกับ “ประเทศและเมือง ที่นักเรียนใช้เวลาทำการบ้านมากที่สุด” จากทาง PISA (Programmed for International Student Assessment) ซึ่งเป็นโครงการประเมินผลนักเรียนระดับนานาชาติ ที่ได้เก็บข้อมูลโดยสำรวจจากเด็กนักเรียนทั่วโลก โดยพบว่า… เด็กประเทศจีน ต้องใช้เวลาทำการบ้านนานที่สุดในโลก โดยใช้เวลาทำการบ้านเฉลี่ยอยู่ที่ 13.5 ชั่วโมง รองลงมาคือ เด็กประเทศรัสเซีย และเด็กสิงคโปร์ ที่ใช้เวลาทำการบ้านอยู่ที่ 9.7 ชั่วโมง และ 9.4 ชั่วโมง ตามลำดับ …นี่ว่ากันถึง 3 อันดับต้น

ส่วน “เด็กไทย” ในยุคนั้นตอนนั้นอยู่อันดับ 23 

โดย “ใช้เวลาทำการบ้านเฉลี่ยอยู่ที่ 5.6 ชั่วโมง”

มาถึงยุคโควิดนี่ก็น่าคิดว่า “น้อยลง?-มากขึ้น?”…

อย่างไรก็ตาม นอกจากมุม “ตัวเลขเวลาในการทำการบ้าน” ของเด็กนักเรียนทั่วโลก รวมถึงเด็กนักเรียนไทยแล้ว กับ “มุมวิชาการ” ของไทยเราเองก็เคยมีนักวิชาการด้านระบบการศึกษา คือ ดร.จุฬาภรณ์ มาเสถียรวงศ์ ได้ศึกษาวิเคราะห์ถึงเรื่องนี้ไว้ ผ่านงานวิจัยชื่อ “ปรับการเรียนเปลี่ยนการบ้าน ประสบการณ์และแนวโน้มนานาประเทศ” ภายใต้การสนับสนุนของ สถาบันรามจิตติ ณ เวลานั้น เพื่อที่จะชี้ว่า การบ้านจำนวนมากไม่ได้มีผลกับคุณภาพการเรียนรู้ของเด็ก

ทั้งนี้จากงานวิจัยนี้ ดร.จุฬาภรณ์ สะท้อนไว้ว่า… สำหรับ “ประเภทการบ้าน” อาจมีได้หลากหลายรูปแบบต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ อาทิ การบ้านตอกยํ้า (Reinforcing Homework) เพื่อทวนซํ้ายํ้าเตือนถึงความรู้ทักษะที่ได้เรียนไป, การบ้านนำทาง (Preparation Homework) เพื่อให้นักเรียนไปค้นคว้า เพื่อเตรียมพร้อมกับบทเรียนต่อไป, การบ้านสร้างงานขยายผลความรู้
(Extension/Application Homework)
ที่เน้นนำความรู้ไปประยุกต์ใช้อย่างเป็นรูปธรรม และ การบ้านบูรณาการการค้นคว้า (Integration Homework) เช่น การกำหนดให้ไปค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลเพื่อเรียบเรียงเป็นรายงาน เป็นต้น

งานวิจัยชิ้นนี้ก็ยังได้มีการอ้างอิงถึงผลการศึกษาจากงานวิจัยหลาย ๆ ชิ้น ที่เมื่อนำมาถอดบทเรียนแล้ว ก็พบว่า… เกือบทุกงานวิจัยให้ข้อสรุปตรงกันเกี่ยวกับ “การบ้านเด็กนักเรียน” ว่า… การบ้านจำนวนมากไม่ส่งผลต่อความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของเด็ก โดยในส่วนของ “ระยะเวลาทำการบ้านที่เหมาะสม” กับเด็กในระดับต่าง ๆ นั้น งานวิจัยพบว่า… ประถมศึกษาตอนต้น ไม่ควรใช้ระยะเวลาทำการบ้านเกิน 20-30 นาทีต่อวัน, ประถมศึกษาตอนปลาย ไม่ควรเกิน 30-45 นาทีต่อวัน, มัธยมศึกษาตอนต้น ไม่ควรเกิน 45-90 นาทีต่อวัน, มัธยมศึกษาตอนปลาย ไม่ควรเกิน 90-150 นาทีต่อวัน

นี่คือ “ระยะเวลาที่ใช้ในการทำการบ้านที่เหมาะสม”

ที่งาน “ศึกษาวิจัย” หลายชิ้นได้วิเคราะห์และได้สรุปไว้…

“มีงานวิจัยของสหรัฐอเมริกา พบว่า หลายประเทศที่เด็กได้การบ้านน้อย เช่น ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเช็ก ฟินแลนด์ เดนมาร์ก กลับมีคะแนนสอบมาตรฐานสูงกว่าเด็กในประเทศอื่น ๆ ที่มีการบ้านมาก เช่น ไทย กรีซ อิหร่าน โดยเฉพาะฟินแลนด์นั้นเป็นประเทศที่ให้การบ้านเด็กน้อยมาก แต่กลับทำคะแนน PISA สูงอันดับต้น ๆ ของโลก เพราะ ไม่เน้นให้การบ้าน แต่ให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ มากกว่า” …นี่เป็นอีกบางส่วนจาก “มุมวิชาการ”

เป็นการ “ศึกษาวิจัย” เรื่อง “การบ้านเด็กนักเรียน”

ที่บ่งชี้ว่า “การบ้านมากไม่ได้หมายความว่าจะดี”

การเรียนรู้ที่มีคุณภาพ” นี่ สำคัญต่อนักเรียน”

และนี่ก็ ไม่น่าจะมีผลทำให้เด็กน็อก???”.