วันที่ 29 เดือนกรกฎาคมของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2505 ในวันนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานและทรงอภิปรายเรื่อง “ปัญหาการใช้คำไทย” ในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสในตอนหนึ่งความว่า “… เราโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือ ให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สาม คือ ความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอจึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้…สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่าๆที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก….”

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2542 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเล็งเห็นถึงปัญหาการใช้ภาษาไทยไม่ถูกต้องในสังคมไทย จึงมีมติเห็นชอบให้กำหนดวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณขององค์ที่ได้พระราชทานแนวคิดต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย รวมทั้งเพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2542 ตลอดจนเพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของคนไทยทั้งชาติให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทยอันจะนำไปสู่การร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุงและอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และสมบัติทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป

วันภาษาไทยแห่งชาติประจำปี 2565 กำลังจะเวียนมาถึงอีกวาระหนึ่งในวันศุกร์สัปดาห์หน้า เป็นวันที่คนไทยจะได้ระลึกถึงภาษาประจำชาติที่มีมาแต่โบราณกาล โดยตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์​ของชาติและมรดกอันล้ำค่าที่บรรพชนได้ประดิษฐ์อักษรไทยไว้ให้คนไทยมีภาษาประจำชาติเป็นของตนเอง สำนึกความเป็นไทยในการทำหน้าที่ของคนไทยทุกหมู่เหล่า จะเป็นพลังสำคัญให้เกิดความหวงแหนและอนุรักษ์ภาษาไทยสืบทอดต่อไปให้แก่อนุชนคนรุ่นหลัง และคนไทยทั้งมวลควรจะมีความภาคภูมิใจที่มีภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติของตนเอง ​ซึ่งในโลกนี้มีประเทศไม่มากนักที่มีภาษาประจำชาติเป็นของตนเอง

ทุกวันนี้คนไทยส่วนใหญ่พูด อ่านและเขียนภาษาไทยไม่ถูกต้องอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งนี้ สืบเนื่องจากในห้วงเวลากว่า 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา กระบวนการเรียนการสอนภาษาไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แทนที่จะสอนตามหลักภาษาไทย แต่ไปสอนตามแบบภาษาของชนชาติอื่น โดยมีการสอนตามแบบอย่างภาษาอังกฤษ กล่าวคือ สอนให้จำเป็นคำๆ ไม่ได้สอนด้วยวิธีการแจกลูกและสะกดคำตามหลักภาษาไทย

การแก้ปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ หรือพอที่จะอ่านออกเขียนได้ของเด็กและเยาวชนไทยในปัจจุบัน ต้องเริ่มต้นตั้งแต่การสอนให้รู้จักพยัญชนะที่มีเสียงต่างระดับกัน จำแนกเป็นอักษร 3 หมู่ (ไตรยางศ์) ได้แก่ อักษรสูง อักษรกลาง และอักษรต่ำ ภายใต้แม่บทมาตราแม่ ก กา ที่มีทั้งสระเสียงสั้นและสระเสียงยาว มาตราตัวสะกดที่มีทั้งคำเป็น (เสียงยาว) และคำตาย (เสียงสั้น) พร้อมกับการสอนให้ผันเสียงวรรณยุกต์ที่กำกับคำแต่ละคำให้มีเสียงสูงต่ำแตกต่างกัน ได้แก่ เสียงเอก เสียงโท เสียงตรี และเสียงจัตวา

หากไม่สอนภาษาไทยตามหลักภาษาไทยแล้ว แต่ไปสอนภาษาไทยตามแบบภาษาของชนชาติอื่น ซึ่งมีโครงสร้างทางภาษาที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ส่งผลกระทบต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของชาติอย่างร้ายแรง ดังที่มีข้อบ่งชี้จากผลการสอบของนักเรียนไทยปรากฏให้ได้รับรู้กันทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ กล่าวคือ ผลการสอบการทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (Ordinary National Educational Test – O-NET) ซึ่งเป็นผลการสอบของนักเรียนทั่วประเทศ มีเพียง 2 วิชาเท่านั้นที่มีคะแนนอยู่ในเกณฑ์​ร้อยละ 50 ส่วนอีก 6 วิชาที่เหลือมีคะแนนอยู่​ในเกณฑ์ต่ำกว่าร้อยละ 50 ส่วนผลการสอบในกลุ่มประเทศอาเซียน และผลการสอบในโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programmed for International Student Assessment – PISA) ที่มีนักเรียนจากประเทศต่างๆกว่า 50 ประเทศเข้าร่วมสอบ ประเทศไทย​ติดอยู่ในอันดับรั้งท้าย

ปัญหาที่มีผลกระทบต่อมาตราฐานและคุณภาพของการศึกษาไทย ทำให้อดนึกถึงสำนวนไทยไม่ได้ที่มีความว่า ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอธิบายความหมาย​ไว้ว่า อบรมสั่งสอนเด็กให้ประพฤติดีได้ง่ายกว่าอบรมสั่งสอนผู้ใหญ่ ในที่นี้ไม่ได้มุ่งหมายถึงความประพฤติ​ แต่เทียบเคียงมุ่งหมายถึงปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ หรือพออ่านออกเขียนได้ของเด็กไทย ต้องเริ่มต้นตั้งแต่ชั้นก่อนวัยเรียน ต่อเนื่องเรื่อยมาถึงชั้นประถมศึกษาและชั้นมัธยมศึกษา ซึ่งเป็นการเรียนภาษาไทยให้ถูกต้องตามหลักภาษาไทยในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะเป็นผลดีให้เด็กมีอุปนิสัยรักการอ่าน เพราะอ่านแล้วได้ความรู้และมีความสนุกกับการอ่าน รวมถึงการเรียนได้ด้วยตนเอง (self learning) อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมีทักษะในการจับใจความได้ เชื่อมโยงข้อมูลได้ด้วยความเป็นเหตุเป็นผล

ภาษาไทยมีความสำคัญทั้งด้านการพูดและอ่าน หากออกเสียงไม่ถูกต้องตามอักขระวิธี ความหมายก็จะผิดเพี้ยนไป กรณีคำที่มีตัว ร และ ตัว ล เป็นพยัญชนะต้น ถ้าออกเสียงไม่ถูกต้องผู้ฟังก็จะเข้าใจคลาดเคลื่อน เช่น คำว่า รบ มีความหมายว่า สู้กัน ต่อสู้ในทางศึก คำว่า ลบ มีความหมายว่า ทำให้หายไปด้วยอาการเช็ดหรือถู ทำให้หายไป คำว่า รอง มีความหมายว่า รับรวมของเหลวหรือสิ่งอื่นที่ไหลตกลงมา ต้านทานคํ้าจุนให้คงอยู่ คำว่า ลอง มีความหมายว่า กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้รู้ว่าเป็นอย่างไร / คำว่า โรง มีความหมายว่า สิ่งปลูกสร้างที่มีหลังคาคลุม ปกติพื้นอยู่ติดกับดิน สําหรับเป็นที่อยู่อาศัย ประกอบการ หรือไว้สิ่งของ คำว่า โลง มีความหมายว่า หีบสําหรับบรรจุศพ / คำว่า รัก มีความหมายว่า มีใจผูกพันด้วยความห่วงใย, ไม้พุ่มชนิดหนึ่ง คำว่า ลัก มีความหมายว่า เอาสิ่งของที่เขาไม่ให้ไปด้วยอาการซ่อนเร้นหรือขโมย / คำว่า เรียน มีความหมายว่าเข้ารับความรู้จากผู้สอน รับการฝึกฝนอบรมเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจหรือความชำนาญ คำว่า เลียน มีความหมายว่า เอาอย่าง ทําหรือพยายามทําให้เหมือนหรือคล้ายคลึงกับแบบอย่าง

กรณีคำที่ไม่มีอักษรควบกล้ำกับคำที่มีอักษรควบกล้ำ หากออกเสียงไม่ถูกต้องตามอักขระวิธี ความหมายก็จะผิดเพี้ยนไป ผู้ฟังก็จะเข้าใจคาดเคลื่อน เช่น คำว่า กอง มีความหมายว่าทําให้รวมสุมกันไว้ สุมกันไว้, สิ่งต่าง ๆ ที่รวมกันไว้ คำว่า กรอง มีความหมายว่า ร้อย ถัก ทอ, เอาของละเอียดออกจากของหยาบ เอาฝุ่นละอองหรือของสกปรกออก คำว่า กลอง มีความหมายว่า เครื่องตีทําด้วยไม้ มีลักษณะกลม กลวง ขึงด้วยหนัง มีหลายชนิด / คำว่า กด มีความหมายว่า บังคับลง ข่ม ใช้กําลังดันให้ลง คำว่า กรด มีความหมายว่า สารอย่างหนึ่ง มีรสเปรี้ยว โดยปกติกัดหรือทำให้สิ่งอื่นแปรไป คำว่า กลด มี​ความ​หมายว่า ร่มขนาดใหญ่สำหรับพระธุดงค์ / คำว่า คั่ง มีความหมายว่า มี, อัดแอ, แน่น, ค้างอยู่ คำว่า ครั่ง มีความหมายว่า ชื่อเพลี้ยหอยชนิดหนึ่ง เมื่อเป็นตัวอ่อนมีรูปร่างยาวรี ลำตัวเป็นปล้อง สีแดง มีขา และหนวด ตัวเมียไม่มีปีก ปล่อยชันที่เรียกว่า ขี้ครั่ง ออกจากต่อมที่มีอยู่ในตัว นำไปใช้ประโยชน์ต่าง ๆ เช่น ผนึก หรือประทับตรา ทำสีย้อม เป็นต้น คำว่า คลั่ง มีความหมายว่า กระวนกระวาย, เพ้อ, มีสติฟั่นเฟือน, เสียสติ

ในช่วงระหว่างวันที่ 19-23 กรกฎาคม 2565 ที่สภาผู้แทนราษฎร ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านเปิดการอภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตย​ระบบรัฐสภา​ที่มีการตรวจสอบและถ่วงดุล หวังว่านักการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลจะได้ทำหน้าที่ตามบทบาทของตนอย่างเต็มที่ ​ขอให้นักการเมืองทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกับการใช้ภาษา​ไทยให้ถูกต้องและเหมาะสม ​เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้คนทั่วไปในสังคมที่เฝ้าติดตามชมการถ่ายทอดภาพและเสียงทั่วประเทศ

…………………………………..

คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”
แฟนเพจ : สาระจากพระธรรม