การพบกันระหว่างเปโลซี กับ นายมาร์ค หลิว ประธานบริษัททีเอสเอ็มซี เพื่อแสดงถึงการที่เซมิคอนดักเตอร์มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ และบทบาทสำคัญของบริษัทในการผลิตชิพที่ล้ำหน้าที่สุดในโลก ยิ่งสร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลปักกิ่ง อย่างไรก็ตาม หลิวกล่าวว่า การบุกรุกไต้หวันจะทำให้ผู้ผลิตชิพ “ไม่สามารถทำงานได้” และ “ไม่มีใครสามารถควบคุมทีเอสเอ็มซีได้ด้วยกำลัง”

เซมิคอนดักเตอร์ องค์ประกอบสำคัญที่อยู่ในอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ทโฟน รถยนต์ หรือตู้เย็น ได้กลายเป็นส่วนสำคัญของการแข่งขันด้านเทคโนโลยี ระหว่างสหรัฐกับจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยฉพาะเมื่อเร็ว ๆ นี้ การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์เป็นตัวกระตุ้นให้สหรัฐพยายามไล่ตามเอเชีย และรักษาตำแหน่งผู้นำเหนือจีนในอุตสาหกรรมนี้ อีกทั้งการเยือนไต้หวันของเปโลซียังแสดงให้เห็นว่า สหรัฐไม่สามารถดำเนินการได้เพียงลำพัง และจำเป็นต้องใช้ความร่วมมือกับบริษัทเอเชีย ซึ่งครอบครองชิพที่ล้ำสมัยที่สุด

ทีเอสเอ็มซีเสมือนเป็นโรงหล่อ หมายความว่าทางบริษัทเป็นผู้ผลิตชิพที่บริษัทอื่นออกแบบไว้ โดยทีเอสเอ็มซีมีรายชื่อลูกค้าอยู่จำนวนมาก ตั้งแต่แอปเปิล ไปจนถึงเอ็นวีเดีย รวมถึงบรรดาบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลกอีกบางแห่งด้วย

DW News

แม้สหรัฐจะให้ความสำคัญกับการย้ายฐานการผลิตใหม่เพื่อปรับปรุงธุรกิจโรงหล่อ หลังจากที่ต้องตามหลังทีเอสเอ็มซีมานานหลายปี แต่ก็ยังมีความพยายามที่จะโน้มน้าวให้บริษัทอื่น ๆ ตั้งสาขาบนแผ่นดินของสหรัฐด้วยเช่นกัน

ปัจจุบัน ทีเอสเอ็มซีกำลังสร้างโรงงานผลิตชิพระดับสูงมูลค่าราว 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 430,000 ล้านบาท) ในรัฐแอริโซนา อีกทั้งสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐยังผ่านร่างกฎหมาย ซึ่งรวมถึงการให้เงินทุน 52,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.85 ล้านล้านบาท) เพื่อส่งเสริมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐ, ปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันกับจีน และหาทางจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีของจีน

ขณะเดียวกัน จีนได้ยกระดับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เป็นความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยการมุ่งเน้นไปที่การพึ่งพาตนเอง และปลีกตัวออกห่างเทคโนโลยีของอเมริกา แต่ถึงอย่างนั้น การคว่ำบาตรคือสิ่งที่ทำให้จีนถูกตัดขาดจากเครื่องมือสำคัญที่ใช้ผลิตชิพล้ำสมัย และอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของจีนยังคงพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศอย่างมาก

ทั้งนี้ทั้งนั้น สหรัฐกำลังมองหาการสร้างความร่วมมือด้านเซมิคอนดักเตอร์กับพันธมิตรในเอเชีย ซึ่งรวมไปถึงญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เพื่อเป็นแนวทางในการจัดหาส่วนประกอบที่สำคัญ และรักษาตำแหน่งผู้นำเหนือจีน แม้ทีเอสเอ็มซีจะอยู่ตรงกลางของการแข่งขันระหว่างสหรัฐกับจีน และอาจถูกบังคับให้เลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ความมุ่งมั่นที่จะสร้างโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงในสหรัฐ อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึง “การเลือกข้าง” ไปแล้วก็เป็นได้.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES