เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องที่ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านเข้าชื่อยื่น เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าสิ้นสุดในวันที่ 23 สิงหาคม 2565 หรือไม่ ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ ซึ่งบัญญัติว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง

ต่อมาเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีการพิจารณาคดี โดยใช้เวลาพิจารณากว่า 3 ชั่วโมง จากการพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7(9) ซึ่งให้อำนาจศาลในการวินิจฉัย ความสิ้นสุดลงของความเป็นรัฐมนตรี ศาลจึงมีมติเอกฉันท์รับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย และให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง

สำหรับคำขอของผู้ร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 82 วรรคสองเมื่อศาลพิจารณาคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้ว เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่า มีกรณีตามที่ถูกร้อง จึงมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565 จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

ทั้งนี้ภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคําวินิจฉัยแล้ว จะแจ้งคําวินิจฉัยนั้นไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีที่วินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ให้พ้นจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรีนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่กระทบต่อกิจการที่ผู้ถูกร้องได้กระทําไปก่อนพ้นจากตําแหน่ง และจะต้องมีการสรรหานายกรัฐมนตรีกันใหม่ หากยังอยู่ในวาระ 4 ปี

จากกรณีดังกล่าวทำให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ต้องเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่รักษาการแทนนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีอันดับที่ 1 ซึ่งเป็นไปตามมติ ครม.เรื่องการมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงทำหน้าที่ รมว.กลาโหม ได้ เพราะตำแหน่งนี้ไม่ได้มีกำหนดวาระ 8 ปีเหมือนนายกรัฐมนตรี

หลังการทราบข่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกมาระบุผ่านโฆษกรัฐบาลว่า เคารพผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญทุกประการ โดยจะหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย และจะยังคงปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง รมว.กลาโหม ต่อไปตามปกติ

ในขณะเดียวกันได้ฝากผ่านโฆษกรัฐบาล ขอให้ประชาชนเคารพในผลการพิจารณาของศาล และหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติหน้าที่ของศาล ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มได้เชื่อมั่นในกฎหมายและหลักนิติธรรมของบ้านเมือง ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคม และช่วยให้ประเทศชาติสงบสุข

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รมว.กลาโหม เข้าทำงานที่กระทรวงกลาโหม พร้อมให้กำลังใจ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในการปฏิบัติหน้าที่รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี

วันที่ 30 สิงหาคม 2565 มีการประชุม ครม. ซึ่งเป็นการประชุม ครม.ครั้งแรกที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาการแทนนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานที่ประชุม ครม.ในครั้งนี้ การประชุมดำเนินไปด้วยความราบรื่น ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รมว.กลาโหม เข้าร่วมประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ที่กระทรวงกลาโหม

ปัจจุบันประเทศไทยในสายตาของต่างประเทศ ยังคงเป็น “คนป่วยของเอเซีย” ซึ่งยังไม่สร่างซาจากอาการเจ็บป่วยที่ยืดเยื้อเรื้อรังมาเป็นเวลายาวนานต่อเนื่องกว่าทศวรรษ เพราะหลังจากมีรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งเมื่อต้นปี 2562 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว มีปฏิบัติการก่อกวนป่วนบ้านป่วนเมืองก็เกิดขึ้นทันที และมีปฏิบัติการต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งเกิดจากการหล่อหลอมรวมตัวกันอย่างเป็นขบวนการ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มการเมืองที่สูญเสียอำนาจ กลุ่มการเมืองใหม่ที่เข้าสู่อำนาจรัฐได้ รวมถึงนักวิชาการที่มีแนวความคิดสุดโต่ง ตลอดจนกลุ่มทุนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มทุนที่เป็นเจ้าของธุรกิจสื่อ ใช้ยุทธวิธีโฆษณาชวนเชื่อและปลุกระดมความคิดในการเคลื่อนไหวมวลชนโดยใช้วิธีการอย่างแยบยล พุ่งเป้ามุ่งทำลายภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่เว้นแต่ละวัน สร้างความแตกแยกแก่คนในชาติ และสร้างความจงเกลียดจงชังต่อกัน โดยไม่คำนึงถึงวิธีการบ่อนทำลายโครงสร้างสำคัญของบ้านเมืองที่ประกอบด้วย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ไม่คำนึงถึงความเจริญผาสุกของประชาชนและความเจริญมั่นคงของประเทศชาติแต่อย่างใด

ผู้คนทั่วไปในสังคม หากมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการปกครองระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย (Constitutional Monarchy) หรือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีความรู้ความเข้าใจในความเป็นมาและความเป็นไปของบ้านเมืองที่เกิดจากน้ำมือของนักการเมืองที่ไม่มีอุดมการณ์ทางการเมือง ไม่มีความจริงใจในการอาสาเข้ามาทำงานทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม มุ่งแต่การแสวงหาอำนาจรัฐเพื่อให้ได้ผลประโยชน์แก่ส่วนตัวและพวกพ้องเท่านั้น

บ้านเมืองมีขื่อมีแป เป็นนิติรัฐ สังคมประชาธิปไตย (democracy) เป็นสังคมที่พลเมืองจะต้องเคารพกฎหมาย แตกต่างไปจากสังคมอนาธิปไตย (anarchy) เป็นสังคมที่ไม่เคารพกฎหมาย เอาแต่ปลุกปั่น ใช้วาทกรรมซึ่งเป็นวจีทุจริต เพื่อให้ผู้คนในสังคมออกมาเคลื่อนไหวกระทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย สถานภาพของประเทศไทยซึ่งเป็น “คนป่วยของเอเซีย” คงจะมีอาการทรุดหนักลงไปเรื่อยๆ ชนิดโงหัวไม่ขึ้น ซึ่งเป็นตามจุดประสงค์ของ “ฝ่ายประชาธิปไตย”

สถานการณ์โลกในปัจจุบันมีการเผชิญหน้าระหว่าง 2 ขั้วมหาอำนาจโลกจากความขัดแย้งในหลายกรณี จนนำไปสู่สงครามเศรษฐกิจ สงครามการสู้รบด้วยอาวุธมหาประลัย การระบาดใหญ่ของโรคอุบัติใหม่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด ภัยพิบัติทางธรรมชาติซึ่งเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้นจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ปัญหาเศรษฐกิจโลกถดถอย ปัญหาเงินเฟ้อ ปัญหาค่าครองชีพสูง ปัญหายาเสพติด ปัญหาการค้ามนุษย์ ปัญหาฉ้อโกงประชาชน ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้ไม่ทราบว่า “ฝ่ายค้าน” ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่าเป็น “ฝ่ายแค้น” จะมีความคิดในเรื่องการช่วยเหลือประชาชนโดยการสะท้อนปัญหาและเสนอแนวทางแก้ปัญหาให้กับรัฐบาล ไม่ใช่ออกมากล่าวหา โจมตีโดยใช้วาทกรรมที่ไม่สร้างสรรค์ แรงริษยา ความอาฆาตแค้นบดบังสำนึกในการทำหน้าที่เป็นผู้แทนราษฎรจนหมดสิ้นแล้วหรือ อดใจรอต้นปี 2566 ว่าจะมีปรากฏการณ์ “แลนด์สไลด์” จะดีกว่าไหม ระวังอย่าให้เกิดปรากฏการณ์ “แลนด์สลาย” ก็แล้วกัน

คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”