ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 30 (The 30 th Annual Meeting the Asia Pacific Parliamentary Forum – APPF 30) ระหว่างวันที่ 26 – 29 ตุลาคม 2565 ณ อาคารรัฐสภา เพื่อหารือเรื่อง”บทบาทของรัฐสภาในการเร่งรัดการพัฒนาที่ยั่งยืนภายหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 : Parliament and the Post-COVID-19 Sustainable Development” ซึ่งมีคณะทูตานุทูต 22 ประเทศสมาชิกเข้าร่วมประชุม อาทิ จีน รัสเซีย เกาหลี ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฯลฯ การประชุมครั้งนี้มีประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ผู้แทนประเทศสมาชิก ทั้ง 28 ประเทศ จากอนุภูมิภาคต่างๆ ในเอเชียและแปซิฟิก ได้แก่ ออสเตรเลีย กัมพูชา แคนาดา ชิลี จีน โคลัมเบีย เอกวาดอร์  คอสตาริกา  ฟิจิ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ลาว มาเลเซีย หมู่เกาะมาร์แชลล์ เม็กซิโก ไมโครนีเซีย มองโกเลีย นิวซีแลนด์  ปาปัวนิวกินี เปรู  ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ ไทย สหรัฐอเมริกา เวียดนาม และบรูไนดารุสซาลาม เข้าร่วมการประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง

 การประชุมในครั้งนี้ประเทศสมาชิกจะร่วมหารือถึงบทบาทของรัฐสภาในการเร่งรัดการพัฒนาที่ยั่งยืนภายหลังการระบาดของโควิด-19 ใน 4 ด้านได้แก่ ด้านการเมือง ความมั่นคง  ด้านเศรษฐกิจ การค้า  ด้านความร่วมมือในระดับภูมิภาค  ด้านสตรี

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวเปิดการประชุมรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 30 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2565 ซึ่งมีใจความบางตอนว่า

“ในนามรัฐสภาไทยมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับและส่งความปรารถนาดีจากประชาชนชาวไทยมายังผู้เข้าร่วมการประชุมประจำปี ครั้งที่ 30 ของรัฐสภาภาคพื้นแปซิฟิกโดยประเทศไทยภาคภูมิใจที่ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐสภาภาคพื้นแปซิฟิกอีกเป็นครั้งที่สอง ตั้งแต่มีการจัดตั้งขึ้นเมื่อต้นทศวรรษ 1990 ซึ่งการประชุมรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกในครั้งนี้ได้มีส่วนอย่างมากในการพัฒนาความร่วมมืออย่างบังเกิดผล การติดต่อสื่อสารกันอย่างใกล้ชิด และความเข้าใจซึ่งกันและกันในบรรดารัฐสภาที่เป็นสมาชิก ความผูกพันใกล้ชิดแห่งมิตรภาพและความร่วมมือที่เราได้หล่อหลอมไว้ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จะส่งเสริมความความพยายามร่วมกันของเราเพื่อนำมาซึ่งการฟื้นฟูหลังโควิด-19 ซึ่งจะนำไปสู่ความเติบโต และความมั่งคั่งรุ่งเรืองในภูมิภาค…

การนำประเด็นเรื่องรัฐสภาและการพัฒนาอย่างยั่งยืนหลังโควิด-19” มาเป็นหัวข้อการประชุมของเรา มาจากการตระหนักว่า โควิด-19 เป็นมากกว่าวิกฤติด้านสุขภาพ โรคระบาดนี้ส่งผลร้ายต่อชีวิตเกือบทุกด้านของเรา โดยมีผลกระทบรุนแรงต่อความก้าวหน้าไปสู่เป้าหมายแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน…

นั่นเป็นเหตุผลว่า เหตุใดเรา ในฐานะที่เป็นตัวแทนของประชาชน จึงมาร่วมประชุมกัน ณ ที่นี้ในวันนี้ เรามุ่งหมายที่จะเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนและยึดมั่นในพันธกิจที่จะสร้างภูมิภาคนี้ขึ้นใหม่ให้มีความมั่นคงเข้มแข็งโดยการมุ่งไปที่การฟื้นฟูอย่างสมดุล ยั่งยืน และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และดำเนินการให้บรรลุวาระ 2030 ของสหประชาชาติภายในช่วงเวลาที่เหลือของทศวรรษแห่งการดำเนินการอย่างจริงจัง…

ขอแบ่งปันแนววิธีการดำเนินงาน 2 แนวด้วยกันในเร่งรัดให้บรรลุเป้าหมายแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศไทย  แนววิธีการแรก คือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงดำริไว้เพื่อวัตถุประสงค์แห่งการสร้างสมดุลในชีวิต 4 ด้านด้วยกัน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม แนววิธีการที่สอง ได้แก่ ตัวแบบเศรษฐกิจชีวภาพ–เศรษฐกิจหมุนเวียน–เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG ซึ่งเป็นที่ยอมรับแล้วอย่างกว้างขวางสำหรับการฟื้นฟูภูมิภาคหลังโควิด-19…

ทั้งนี้ในฐานะผู้แทนของปวงชนรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ยึดถือพวกเขาเหล่านี้เป็นศูนย์กลาง โดยการส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ความเป็นเอกภาพ และการดูแลให้ครอบคลุมทุกฝ่ายโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราสามารถเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสได้   สำหรับการประชุมครั้งนี้ กลุ่ม Young Parliamentarians Caucus- YPC แห่งประเทศไทยจะเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย เพื่อส่งเสริมหลักการไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลังตามแนวทางของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ท้ายที่สุดนี้ ตนมีความมั่นใจว่า ช่วงเวลา 3 วันแห่งการพิจารณาถกเถียงจะนำไปสู่ข้อมติอย่างเป็นรูปธรรมและมีสาระ ซึ่งจะตามมาด้วยการดำเนินงานในทางปฏิบัติ เมื่อกล่าวเช่นนี้แล้ว ตนมีความยินดีที่จะประกาศเปิดประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นแปซิฟิกครั้งที่ 30 อย่างเป็นทางการ”

ต่อมาวันที่ 28 ตุลาคม 2565 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุมรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 30 มีการรายงานการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างข้อมติและแถลงการณ์ร่วม โดย นายกิตติ  วะสีนนท์ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างข้อมติและแถลงการณ์ร่วม  (Joint Communique) กล่าวรายงานต่อที่ประชุม ว่า รัฐสภาสมาชิกได้ร่วมกันทำหน้าที่อย่างหนักในการพิจารณาร่างข้อมติที่เกิดขึ้นจากการประชุมทั้ง 4 คณะ ก่อนได้ข้อยุติ 11 ร่างข้อมติ จากคณะทำงานด้านการเมืองและความมั่นคง คณะทำงานด้านเศรษฐกิจและการค้า คณะทำงานด้านสมาชิกรัฐสภาสตรี และคณะทำงานด้านความร่วมมือในระดับภูมิภาค อาทิ การฟื้นฟูอย่างยั่งยืนภายหลังการระบาดของโรคโควิด – 19 เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย สันติภาพ และความมั่นคง การเสริมสร้างศักยภาพของสตรีเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ในอนาคต การพัฒนาและการขยายการเข้าถึงสาธารณสุขมูลฐานอย่างเท่าเทียม การส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับภูมิภาค และการสนับสนุนความเข้าใจในความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยที่ประชุมให้การรับรองทั้ง 11 ร่าง

พิธีปิดการประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 30 นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในฐานะประธานเจ้าภาพการประชุมฯ และประธานคณะกรรมการบริหาร เป็นประธานในพิธีปิดการประชุมฯ โดยมี หัวหน้า และคณะผู้แทนจากประเทศสมาชิกรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ประเทศผู้สังเกตการณ์ องค์การระหว่างประเทศ คณะทูตานุทูต พร้อมด้วย ศ.พิเศษพรเพชร  วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา  นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง สมาชิกรัฐสภาไทย  คณะผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และแขกผู้มีเกียรติ ร่วมพิธีปิดการประชุม

จากนั้นนายชวน หลีกภัย ประธานเจ้าภาพการประชุมฯ กล่าวส่งต่อการประชุมครั้งต่อไปในปี 2566 ซึ่งมีประเทศฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพ “…ตนขอขอบคุณเป็นอย่างมากที่ประเทศฟิลิปปินส์รับเป็นเจ้าภาพการประชุมฯ ครั้งถัดไป หวังว่าเจ้าภาพการประชุมฯ ครั้งต่อไปจะประสบความสำเร็จในการจัดประชุมฯ…”

…………………………
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”