รู้หรือไม่? วันที่ 20 กันยายนของทุกปี ประเทศไทยได้ประกาศให้เป็น “วันเยาวชนแห่งชาติ” (National Youth Day) โดยคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2528 ด้วยเหตุผลว่าเป็นวันที่เป็นสิริมงคล เนื่องจากตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ แห่งราชวงศ์จักรีถึงสองพระองค์ด้วยกัน คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) ซึ่งทั้ง 2 พระองค์ ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติในขณะที่ยังทรงพระเยาว์

โดยวันเยาวชนแห่งชาติ ได้เริ่มมีขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2528 เนื่องจากองค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ปี พ.ศ. 2528 เป็นปี “เยาวชนสากล” (International Youth Day) และได้ขอให้ประเทศสมาชิกร่วมเฉลิมฉลองปีเยาวชนสากลภายใต้คำขวัญว่า “Participation, Development and Peace” ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า “ร่วมแรงแข็งขัน ช่วยกันพัฒนา ใฝ่หาสันติ” โดยมีความหมายที่เยาวชนทุกคนสามารถนำไปปฏิบัติได้ คือ

ร่วมแรงแข็งขัน (Participation) หมายถึง การยอมรับในศักยภาพของแต่ละบุคคล ที่จะสามารถวินิจฉัยและตัดสินใจในเรื่องของตนเอง และตระหนักว่าตนมีโอกาส และพึงพอใจที่จะใช้โอกาสด้วยตนเองอย่างเกิดคุณค่าโดยไม่ตกเป็นเครื่องมือของผู้ใด การที่เยาวชนมีส่วนร่วมและมีบทบาทต่อชาติบ้านเมืองได้อย่างเต็มที่นั้น ถือเป็นความสำเร็จของสังคมและประเทศชาติเป็นสำคัญ

ช่วยกันพัฒนา (Development) คือ การพัฒนานั้นสามารถมองได้ ๒ มิติ มิติแรก คือ การพัฒนาตนเองของแต่ละบุคคล มิติที่สองคือ การพัฒนาสังคมและประเทศชาติ หากบุคคลพัฒนาตนเองได้ดีก็จะเป็นกำลังสำคัญและมีคุณค่าต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ และอีกด้านหนึ่งการพัฒนาสังคมและประเทศชาติก็จะเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาของบุคคลด้วย ดังนั้น กระบวนการพัฒนาทั้ง ๒ ส่วนนี้ จึงมีความต่อเนื่องและสัมพันธ์กัน เนื่องจากในสภาวะปัจจุบัน ความร่วมมือในระดับนานาชาติ จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความก้าวหน้าในการพัฒนาประเทศ

ใฝ่หาสันติ (Peace) สันติภาพถือเป็นหลักการพื้นฐานของชีวิต ความต้องการสันติภาพ เป็นความต้องการของสากลโลก ที่ทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อให้เกิดสันติภาพ เยาวชนทุกคนจึงต้องร่วมมือกันผลักดันให้เกิดมาตรการที่จะสร้างความเชื่อมั่นในวิถีการพัฒนาด้วนสันติ และสร้างสำนึกสันติภาพ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปลูกฝัง อบรมสั่งสอนเยาวชนให้รู้จักเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และสิทธิมนุษยชน มีความอดทนอดกลั้น ความเป็นประชาธิปไตยและเสรีภาพพื้นฐาน

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ตั้งเป้าหมายของวันเยาวชนแห่งชาติว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 เป็นต้นไป เยาวชนของชาติ จะต้องได้รับการส่งเสริมและพัฒนาให้สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเอง ชุมชนและประเทศชาติให้มีความเจริญและมั่นคง โดยต้องเริ่มจากการพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ที่มีค่านิยมที่พึงประสงค์ รู้จักการอดออมและประหยัด ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตลอดจนบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมส่วนรวมและประเทศชาติ สำหรับคุณสมบัติของเยาวชนที่พึงประสงค์นั้น จะมี 6 ประการด้วยกัน คือ

1.มีความผูกพันในครอบครัว ภาคภูมิใจในความเป็นไทยและดำรงชีวิตด้วยการรู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่น

2.มีสุขภาพแข็งแรงรู้จักป้องกันตนเองจากสิ่งเสพติด

3. มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ จริยธรรม คุณธรรม และมีความรับผิดชอบเป็นไปตามวัย

4.มีเจตคติที่ดีต่อการทำงาน และภาคภูมิใจในการทำงานที่สุจริต

5.รู้จักคิดอย่ามีเหตุผลและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

6.รู้จักช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสและมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาชุมชนและประเทศชาติ

อย่างไรก็ตาม สำหรับความหมายคำว่า “เยาวชน” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ระบุว่า เยาวชน หมายถึง บุคคลอายุเกิน 15 ปีบริบูรณ์แต่ยังไม่ถึง18 ปีบริบูรณ์ และไม่ใช่ผู้บรรลุนิติภาวะแล้วจากการจดทะเบียนสมรส ในทางกฎหมายก็ถือว่าบุคคลที่มีอายุระหว่างนี้เป็นเยาวชนและหากต้องระวางโทษก็จะพิจารณาโทษแตกต่างจากผู้ใหญ่ ส่วน สหประชาชาติ ได้ระบุว่า เยาวชนหมายถึง คนในวัยหนุ่มสาว คือ ผู้มีอายุระหว่าง 15–24 ปี..

ขอบคุณภาพประกอบ : Pixabay