อาจจะทำให้หลายคน “แหยง” หรืออาจถึงขั้น “ไม่กล้าลงเล่นน้ำทะเล” จากกรณีที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ในโลกโซเชียลมีการ “โพสต์เตือน” ผู้ที่จะลงเล่นน้ำทะเลว่าให้ “ระวังภัยแมงกะพรุนไฟ” ซึ่งมี “พิษรุนแรงถึงตายได้!!”… โดยกรณีดังกล่าวนี้ก็ได้มีผู้เชี่ยวชาญเข้าตรวจสอบและพบว่าเป็น “แมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกส” ที่จัดว่า “มีพิษแรงที่สุดในโลก” ซึ่งผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหากโดนพิษแมงกะพรุนชนิดนี้อาจอันตรายถึงชีวิตได้!!… ทั้งนี้ การ “เตือนให้ระวังภัยแมงกะพรุน” ในทะเลไทยล่าสุด…

ก็เป็นอีกครั้งที่ “เตือนภัยสัตว์ทะเล”…

ภัยสัตว์ทะเล “ยังมีชนิดอื่น ๆ อีกอื้อ!!”

Beautiful jellyfish in the water

เกี่ยวกับ “สัตว์ทะเลมีพิษ” นั้น แม้จะเป็นธรรมดาที่สามารถพบเจอได้ขณะที่มีการทำกิจกรรมในทะเล แต่ก็ต้องย้ำเตือนไว้ว่า “ห้ามประมาท!!” เพราะถ้าพลั้งพลาดก็อาจทำให้เกิดเป็นอันตรายได้ ซึ่งที่ผ่านมาในไทยก็เคยมีกรณี “คนเสียชีวิตเพราะสัตว์ทะเลมีพิษ” โดยเฉพาะในช่วงที่เป็น “ฤดูชุกชุม” ซึ่งสัตว์บางชนิดดูสวยงาม…หากแต่มีพิษสงร้ายกาจใช่เล่น ๆ…

ทั้งนี้ เกี่ยวกับ “สัตว์ทะเลที่มีพิษ” นั้น…วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลโดย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เคยให้ข้อมูลไว้สรุปได้ว่า… นอกจาก “แมงกะพรุนที่มีพิษ” ที่นักท่องเที่ยว ผู้ที่ลงเล่นน้ำ ดำน้ำ ลงไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ในทะเล “จำเป็นต้องระวัง” ก็ยัง ’มีสัตว์ทะเลที่มีพิษอีกหลาย ๆ ชนิด“ ซึ่งขอย้ำว่าจำเป็นจะต้องระมัดระวังให้ดี ๆ เพื่อไม่ให้ได้รับอันตราย โดยที่ร้ายเด่น ๆ ที่เคยมีผู้พบเจอบ่อย ๆ นั้น…

       ในบริเวณอาณาเขตทะเลไทย มีดังนี้…

เริ่มจาก “หมึกสายวงฟ้า (Blue-ringed octopus)” ที่มีจุดเด่นคือสีสันลำตัวเป็นจุดกลมคล้ายวงแหวนสีน้ำเงิน หรือสีม่วง ซึ่งคนที่ถูกหมึกชนิดนี้กัดจะมีอาการเริ่มจากรู้สึกชาบริเวณปาก กับตามปลายมือปลายเท้า จากนั้นตาจะพร่า มีปัญหาการกลืนลำบาก กับอาจเกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง โดย ถ้าอาการรุนแรงหนัก ๆ อาจทำให้ระบบหายใจล้มเหลว ได้

“หอยเต้าปูน (Cone shell)” มักจะพบอาศัยอยู่ตามซอกโพรงหินในแนวปะการัง บริเวณชายฝั่งทะเล หรือพื้นทะเลใกล้ ๆ แนวปะการัง โดยผู้ที่ไปสัมผัสกับหอยชนิดนี้จะถูกเข็มพิษทิ่มแทง จนทำให้เกิดอาการเจ็บปวด และผิวหนังที่ถูกพิษของหอยเต้าปูนนั้นจะเริ่มเป็นสีซีด เริ่มมีอาการบวมหรือเขียวช้ำ ที่เป็นผลจากการขาดเลือด จากนั้นพิษจะเริ่มกระจายไปทั่วร่างกาย โดยจะทำให้ตาพร่ามัว เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง จน ถึงขั้นทำให้ระบบหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้ เช่นกัน

Multi colored coral reef teeming with sea life generated by AI

ส่วน “กลุ่มปลาทะเลอันตราย” นั้น ก็มีคำแนะนำให้ระวังปลาทะเลชนิดต่าง ๆ อย่างเช่น… ปลาสิงโต (Lionfish), ปลาหิน (Stonefish), ปลาปักเป้า (Puffer fish), ปลากระเบน (Stingray), ปลาดุกทะเล (Sea catfish) ที่แม้บางส่วนก็ถูกนำมาเป็นอาหารของคนเรา แต่ก็อาจก่ออันตรายกับผู้ที่ทำกิจกรรมในทะเลบริเวณที่มีปลาเหล่านี้อาศัยอยู่ โดยถ้าสัมผัสถูกเงี่ยงหรือครีบ หรือบางชนิดหากกินเข้าไป ก็จะอันตรายได้ เช่น ผิวหนังที่ถูกพิษเกิดอาการปวด บวม มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง  หรือซึมไม่ได้สติ ส่วนในรายที่อาการหนัก ๆ รุนแรงนั้น ระบบหายใจและระบบหัวใจอาจล้มเหลวจนทำให้เสียชีวิต

ไม่เท่านั้น… “สัตว์ทะเลชนิดอื่น ๆ ที่อันตราย” ไม่แพ้กัน ก็ยังมีอีก เช่น… “งูทะเล (Sea snake)” ที่พิษจะเริ่มแสดงอาการหลังถูกงูกัดประมาณ 30 นาที โดยผู้ถูกกัดจะลิ้นแข็ง กลืนลำบาก กล้ามเนื้ออ่อนแรง  และ ในรายที่รุนแรงระบบหายใจอาจล้มเหลว ขณะที่ “แมงดาทะเลหางกลม” หรือมีอีกหลายชื่อเรียก เช่น แมงดาถ้วย แมงดาไฟ เหรา นั้น มักจะได้รับพิษผ่านการบริโภคเข้าไป โดยผู้รับพิษจะชาบริเวณปาก จากนั้นจะเริ่มชาปลายมือปลายเท้า และ อาการรุนแรงมาก ๆ ก็อาจถึงขั้นระบบหายใจล้มเหลว เช่นกัน …นี่เป็นตัวอย่าง “สัตว์ทะเลอันตรายที่มีอยู่ในทะเลเมืองไทย” ที่ต้องระวังกันให้ดี ๆ

Orange coral reef with black background

และนอกจากนี้ ที่อยู่ในทะเล-ที่ “กลัวกันไว้ใช่ว่า” ก็ยังมีอีก อาทิ… “ปะการังไฟ (Fire Coral)” ที่มีรูปร่างคล้ายกับปะการังแข็งทั่วไป แต่มีจุดเด่นอยู่ที่กิ่งก้านสีเหลืองถึงสีน้ำตาลอ่อน ผู้สัมผัสพิษปะการังชนิดนี้จะได้รับพิษผ่านผิวหนัง บริเวณผิวหนังที่ถูกพิษนั้นจะเริ่มมีอาการผื่นแดง จากนั้นผิวหนังจะค่อย ๆ ปวดแสบปวดร้อน และคันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ, “ดอกไม้ทะเล (Anemones)” ก็จัดเป็นสัตว์ทะเลอีกชนิดที่หลายคนอาจมองข้ามพิษสง เพราะดูสวยงามจากสีสันสดใส แต่เมื่อไปถูกพิษเข้าก็จะมีอาการผื่นแดง และ ปวดแสบปวดร้อนอย่างมาก รวมถึงอาจจะมีอาการคันบริเวณผิวหนังที่สัมผัสกับพิษร่วมด้วย

“ฟองน้ำไฟ (Sponge)” นี่มักพบตามแนวปะการัง โดยการสัมผัสพิษจะได้รับพิษผ่านผิวหนัง ซึ่งก็จะ ปวดแสบปวดร้อน หรือมีอาการคันร่วมด้วย, “ขนนกทะเล (Sea feather, Hydroid)” เป็นสัตว์คล้ายพืช มักพบในแนวปะการัง เสาสะพานท่าเรือ หรือตามเศษวัสดุที่ลอยน้ำทะเลมา การได้รับพิษจะได้รับผ่านผิวหนัง นี่ก็จะ ปวดแสบปวดร้อน และมีอาการคัน, “เม่นทะเล (Sea urchin)” เป็นอีกชนิดที่เกิดอันตรายได้บ่อยเช่นกัน พบได้ตามพื้นทราย ซอกหิน แนวปะการัง กองหินใต้น้ำ โดยผิวหนังที่ถูกเข็มพิษเม่นทะเลทิ่มตำจะปวดบวมแดง ซึ่งรายที่รุนแรงอาจความดันโลหิตต่ำ และ ทำให้ระบบหายใจล้มเหลว ได้

Red lionfish in water

ปิดท้ายที่ “ดาวมงกุฎหนาม (Multi-rayed starfish)” จะคล้ายดาวทะเล แต่มีจำนวนแขนมากกว่า พบตามหาดหิน แนวปะการัง เมื่อถูกพิษจะปวดบวมแดง ส่วนรายที่รุนแรงจะมีอาการชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง ก็ถึงขั้น ระบบหายใจล้มเหลว ได้เช่นกัน…ทั้งนี้ เหล่านี้เป็น “สัตว์ทะเลที่ต้องระวัง” ซึ่งหลายชนิดแม้จะ “คุ้นชื่อ-คุ้นรูปร่างหน้าตา” แต่ก็อาจ “ไม่คุ้นพิษ”

อาจ “หลงรูปหลงสี…คิดว่าไม่ร้าย??”

สุดท้าย “อาจติดกับดักพิษมรณะ!!”.

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่