5 มีนาคมของทุกปี เคยเป็นวันหยุดของหนังสือพิมพ์ ทั้งกองบรรณาธิการ ไม่ว่าจะนักข่าว ฝ่ายบรู๊ฟ บรรณาธิการ ฝ่ายผลิต ฝ่ายจัดจำหน่าย คนขับรถ เอเยนต์ส่งหนังสือพิมพ์ จนไม่มีหนังสือพิมพ์วางขายบนแผง มาจากการต่อสู้เรียกร้องของ อิศรา อมันตกูล นัก นสพ. นักต่อสู้ ผู้ยิ่งใหญ่ และนายกสมาคมนักข่าวคนแรก กว่า 50 ปีที่แล้ว แม้ทุกวันนี้ไม่มีหนังสือพิมพ์ฉบับไหนหยุดงานแล้ว แต่ก็ยังเป็น “วันนักข่าว” ที่เปลี่ยนเป็น “วันสื่อสารมวลชน” แทน ขณะสื่อต่าง ๆ ทั้งสิ่งพิมพ์ วิทยุ ทีวี กลายเป็นสื่อยุคเก่าที่ถูกทำลายล้าง (disrupt) จากเทคโนโลยีทั้งสิ้น ต้องหนีตาย ลดขนาดองค์กร หาพันธมิตรร่วม หันไปทำสื่อ ดิจิทัล ยูทูบ ทวิตเตอร์ ออนไลน์…แต่จะทัน AI ที่กำลังเขย่าโลกเก่าอีกรอบหรือไม่ ไม่มีใครรู้

บริษัทไฮเทคที่ชื่อ Apple AI ตอนนี้ สามารถสร้างหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ (AI ) ที่โคตรเก่ง โคตรฉลาด ทำงานแทนมนุษย์ได้ เช่น Chat GPT สนทนากับคนได้ เขียนบทความได้ อ่านข่าวได้ ทำข้อสอบในโรงเรียนมัธยมได้ ทำข้อสอบมหาวิทยาลัยตามหลักสูตรอเมริกาได้ ที่สำคัญคือ ทำคะแนนได้สูงกว่ามนุษย์หลายคน มี AI ที่สร้างวิดีโอและสร้างรูปภาพหรือเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริงจนไม่รู้สร้างจากฮอลลีวูดหรือสตูดิโอเล็ก ๆ เป็นต้น เป็นโลกยุคใหม่ที่ไม่มีใครทัดทานได้ คนในอุตสาหกรรมสื่อเก่าคงตกงานอีกระลอกใหญ่ ไม่ช้าไม่นานนี้

กระนั้น เร็ว ๆ นี้ เว็บไซต์ของสมาคมนักข่าวฯ ก็ยังมีการโพสต์ว่า สื่อสังคม ไม่ใช่สื่ออาชีพ สื่อมืออาชีพที่แท้จริง ต้องมีจริยธรรมกำกับ ปรากฏว่า ขึ้นได้แป๊บเดียว ต้องลบโพสต์ทิ้ง ถูกคนทำสื่อออนไลน์โต้กลับทันควัน สื่อสังคม ไม่ใช่สื่อมืออาชีพ แล้วใครเป็น ในเมื่อคนทำสื่อ ไปทำเว็บไซต์เองมากมาย บางเว็บมีคนดูคนตามมากกว่าสื่อกระแสหลักด้วยซ้ำ ไม่นับที่สื่ออาชีพเอาประเด็นจากสื่อสังคมไปขยายต่อเป็นรายวัน นิยามว่า สื่ออาชีพ จึงมิได้ผูกขาดคับแคบดังแต่ก่อน เอาเข้าจริง มีมือถือเครื่องเดียวก็เป็นสื่อ (ภาคประชาชน)ได้แล้ว

ใด ๆ คือ ที่บอกสื่ออาชีพแท้จริงต้องมีจริยธรรม ยิ่งน่าสงสัย เอาเหตุการณ์ใกล้สุด ช่วงกีฬาสี มีสื่อแท้ สื่อเทียม สื่อหางแดง สื่อกู้ชาติ ใครนิยามคุณสมบัติ สื่อแท้ สื่อเทียม แล้วสื่อแท้ไปเป็นที่ปรึกษาให้ทหารเข้ามายึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญจนได้ดีเป็นสนช.เป็น กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ผิดจริยธรรมมั้ย ในองค์กรสื่อ หลายคนเข้ามาสร้างโปรไฟล์ ได้ผลตอบแทน เป็น สว.ลากตั้ง หลายคนถีบตัวไปเป็นกรรมการในองค์กรอิสระ กินเดือนหลายแสน ผิดจริยธรรมมั้ย ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนในรูปอื่น ๆ อีกมากมาย สมาคมสื่อ ทำอะไรหรือไม่

แต่ใครจะว่ายังไงก็ตาม สื่อสังคม สื่ออาชีพ สื่อเก่า สื่อใหม่ หากนิยามตัวเอง เป็นสื่ออาชีพแล้ว ที่ต้องมีคือ จิตวิญญาณ หรือไม่ คำที่ยังขลัง…จึงขอนำบางข้อความจากหนังสือเล่มเล็ก ๆ ชื่อ “มุมมองสองปราชญ์” หนังสือทรงคุณค่าที่สมาคมนักข่าวจัดทำขึ้นเมื่อปี 2537 มี ท่านเจ้าคุณปยุต ปยุตโต และ .ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นองค์ปาฐก มาลงอีกครั้ง

โดยเฉพาะท่านปยุต มีมุมมองสุดแหลมคม…ท่านบอกว่า สื่อที่ได้ชื่อว่า กระจกเงาของสังคม จะสะท้อนภาพที่ชัดเจนได้ กระจกเงานั้นต้องเรียบสม่ำเสมอ ไม่บิดเบี้ยวและไม่ปูดบุ๋มเป็นคลื่นเป็นลอน ต้องเป็นกระจกเงาที่ดีมีคุณภาพเรียบเสมอจริง ๆ ขนาดนี้แล้ว ก็ยังสะท้อนภาพได้ตามแต่ที่แสงสว่างจะส่องให้ กระจกเงามีใจของสื่อมวลชน โดยรู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง เลือกสะท้อนบางสิ่งและบางส่วนของสังคมตามสติปัญญาและแรงจูงใจของผู้ทำงานสื่อ เพราะฉะนั้นภาพสะท้อนจากกระจกเงาของสื่อจึงเป็นภาพสะท้อนแห่งเจตจำนง ศักยภาพ และภูมิปัญญาของสื่อเองด้วย

ขณะสื่อมวลชนที่พึงประสงค์ของสังคม “นอกจากสะท้อนภาพที่แท้จริงของสังคม เป็นกระจกเงาที่เรียบเสมอยังต้องมี “ไฟฉาย” ที่ส่องให้สังคมรู้เห็นและรู้ตัวถึงจุดสำคัญที่ควรแต่งแก้เสริมตลอดจนเมื่อช่วยแต่งตัวให้ดีเสร็จแล้ว ยัง “ส่องนำ” ให้เห็นทางที่พึงเดินไปข้างหน้าสืบต่อไปด้วย”

นี่แค่บางเศษเสี้ยวจากที่ท่านปยุตได้พูดไว้ ใครอยากอ่านฉบับเต็มเข้าไปที่ “Google” พิมพ์คำว่า มุมมองสองปราชญ์ สมาคมนักข่าวฯ ก็จะได้อรรถรสและความซาบซึ้งกว่านี้อีกมาก นี่คือคุณค่า “ดิจิทัลฟุตพรินต์” ในโลกยุคใหม่

วันนักข่าวทั้งที โดยเฉพาะในยุคที่ประเทศชาติเต็มไปด้วยภาพลวงตาในกระจกเงาและหลายคนยังมืดบอดอีกต่างหาก ช่วยกันตามหา “จิตวิญญาณ” ที่อาจเลือนรางหรือสูญหายกลับมาบ้าง ย่อมดีแก่ใจ (และสังคม) มิใช่หรือ.

………………………….
ดาวประกายพรึก

อ่านบทควมทั้งหมดที่นี่…