ทั้งนี้ หลาย ๆ คู่วางแผนเตรียมการใช้ชีวิตคู่และมีลูกไว้แต่เนิ่น ๆ แล้ว ซึ่งเชื่อเช่นนี้โดยมีความพร้อม และทำให้มีพลังในการดูแลลูกได้ดี ดูแลลูกให้เติบโตขึ้นอย่างเหมาะสม ก็ย่อมเป็นเรื่องดี อย่างไรก็ตาม เรื่อง “ความเชื่อ” กับเรื่อง “มีลูก” นี่ก็มีอีกประเด็น…ที่ทาง วิชาการด้านสุขภาพ” มีการ “นำเสนอข้อมูลให้พิจารณา” กัน…

ข้อมูลว่าด้วยเรื่อง “ฤกษ์คลอดลูก”

ฤกษ์ใดคือ “ฤกษ์ที่ดีที่สุดต่อลูก??”

ทั้งนี้… “มีครอบครัวจำนวนไม่น้อยที่ยังขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับการเลือกวิธีคลอด และไม่ทราบว่าวิธีการคลอดสัมพันธ์กับสุขภาพเด็ก ตลอดจนคุณภาพชีวิตของลูก ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว” …นี่เป็นส่วนหนึ่งจากที่มีการระบุไว้ในชุดข้อมูลเรื่อง “ลบล้างความเชื่อพ่อ-แม่ ฤกษ์คลอดที่ดีที่สุดต่อสุขภาพลูกน้อย คือฤกษ์คลอดตามธรรมชาติ” ที่จัดทำโดย โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ซึ่งได้สะท้อนไว้เกี่ยวกับผลกระทบทางสุขภาพ หลังจากพบปัญหา “เด็กไทยเติบโตโดยไม่แข็งแรงเพิ่มขึ้น!!” โดยที่ “มีปัจจัยส่วนหนึ่งเกิดจากความเชื่อฤกษ์คลอด”

ในชุดข้อมูลโดย HITAP ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำมาสะท้อนต่อในวันนี้ ระบุไว้ว่า… ปัจจุบันหลายครอบครัวกำลังเป็นทุกข์เนื่องจากลูกเติบโตขึ้นโดยมีสุขภาพไม่แข็งแรง ซึ่งมีการศึกษาพบว่ามีครอบครัวไม่น้อยที่ยังขาดองค์ความรู้ในการเลือกวิธีคลอดลูก และไม่รู้ว่าวิธีคลอดสัมพันธ์โดยตรงกับสุขภาพเด็กทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทำให้พ่อแม่ยุคใหม่ “ใช้วิธีผ่าคลอด” โดยที่ “ไม่มีความจำเป็น หรือไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์” โดยส่วนหนึ่งนั้น สาเหตุที่หลายครอบครัวเลือกตัดสินใจใช้วิธีนี้ มาจากเรื่อง “ความเชื่อเกี่ยวกับฤกษ์ผานาที” ขณะที่บางส่วนเลือกผ่าคลอดก็เพราะ “กลัวความเจ็บปวดขณะคลอด”

อย่างไรก็ตาม การที่เลือกใช้วิธี “คลอดลูกด้วยการผ่าตัด” ทั้งที่ไม่มีความจำเป็นหรือข้อบ่งชี้ในทางการแพทย์ กรณีนี้ได้ ก่อให้เกิดผลกระทบต่าง ๆ หลายด้าน ทั้งกับตัวเด็ก ทั้งตัวมารดาของเด็ก รวมไปถึงระบบสาธารณสุขด้วย โดยที่…

สำหรับ “ผลกระทบต่อคุณแม่” ที่คลอดโดยผ่าตัด คือ… มักมีปัญหาการฟื้นตัวล่าช้า กว่าวิธีคลอดแบบธรรมชาติอีกทั้งยัง เพิ่มความเสี่ยงเมื่อตั้งครรภ์ในครั้งถัดไป จากภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น การแท้ง การตั้งครรภ์นอกมดลูก การเกิดพังผืดในช่องท้อง และการเกิดรกฝังตัวลึกในมดลูก จากรอยแผลผ่าตัดเดิมอีกด้วย ส่วน “ผลกระทบต่อทารก” ในชุดข้อมูลได้อ้างอิงบทความต่างประเทศที่ตีพิมพ์ในวารสาร American Journal of Epidemiology ปี 2554 ที่ระบุว่า… การผ่าคลอดอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อทารกได้ตั้งแต่แรกคลอด แบ่งเป็น ระยะสั้น ที่ทำให้ทารก มีความเสี่ยงปัญหาการหายใจ ปัญหาการทำงานของหัวใจ ปัญหาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง มากกว่าเด็กที่คลอดตามธรรมชาติ ขณะที่ ระยะยาว นั้น เมื่อเด็กโตขึ้นจะ มีความเสี่ยงป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ โรคหืด โรคอ้วน ได้มากกว่าเด็กที่คลอดธรรมชาติ

“ปัจจัยที่ทำให้เด็กที่ถูกผ่าคลอดมีปัญหาสุขภาพมากกว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากเด็กที่ผ่าคลอดนั้นจะไม่ได้รับไมโครไบโอมตามธรรมชาติ ที่เป็นจุลินทรีย์จากช่องคลอดของผู้เป็นแม่ตั้งแต่แรกคลอด ทำให้มีความเสี่ยงเป็นโรคภูมิแพ้กับโรคต่าง ๆ ได้มากกว่าเด็กที่คลอดออกมาผ่านทางช่องคลอด” …นี่เป็นอีกส่วนจากชุดข้อมูลโดย HITAP

อนึ่งจากผลลบที่อาจเกิดจากการนิยม “ผ่าตัดคลอดลูกโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์” ทาง ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย จึงมีประกาศเกี่ยวกับ “เกณฑ์การผ่าตัดคลอด” ฉบับปรับปรุงปี 2566 ใน 8 ประเด็นสำคัญ ดังนี้…

1.การผ่าตัดคลอดควรทำในรายที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ หรือมีความเสี่ยงจากการคลอดด้วยวิธีธรรมชาติเท่านั้น 2.ควรให้ข้อมูลถึงความเสี่ยงจากการผ่าคลอด 3.สตรีตั้งครรภ์ควรได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนจนเข้าใจประโยชน์และความเสี่ยงการผ่าคลอด 4.การผ่าคลอดโดยไม่มีข้อบ่งขี้ สูตินรีแพทย์ควรถามเหตุผล อธิบายความเสี่ยงกับประโยชน์การผ่าคลอดให้ทราบ หากมารดายังยืนยันก็ให้ลงนามในเอกสารและใบยินยอม ส่วนกรณีไม่เห็นด้วยให้แนะนำหรือส่งต่อไปพบสูตินรีแพทย์ท่านอื่น

5.การ ผ่าคลอดแบบวางแผนล่วงหน้าที่มีการเตรียมการ และระบุวันเวลาไว้ชัดเจน แนะนำให้ผ่าที่อายุครรภ์ 39 สัปดาห์เป็นต้นไป 6.แพทย์ที่ แนะนำหรือชักจูงให้ผ่าคลอด โดยไม่มีข้อบ่งชี้ ถือเป็นการกระทำที่ผิดจริยธรรมการแพทย์ 7.อัตราผ่าตัดคลอดที่เหมาะสมของแต่ละสถานพยาบาลอาจแตกต่างกัน ขึ้นกับบริบทและสถานการณ์ที่รับผิดชอบ และ 8.ควรเก็บข้อมูลการคลอดแบบ Robson classification เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการประเมิน และติดตามต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ ในชุดข้อมูลโดย HITAP หรือ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ ได้ย้ำถึงกรณี ปัญหาจากอัตราผ่าคลอดโดยไม่จำเป็นของไทยที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ไว้ด้วยว่า… ภายใต้สถานการณ์ที่อัตราเกิดของไทยลดลงต่ำมาก เพื่อไม่ให้เดินสู่สภาวการณ์ที่อาจจะส่งผลทำให้ความยั่งยืนทางสุขภาพคนไทยลดลงเรื่อย ๆ การให้ข้อมูลที่ครบถ้วนในการเตรียมความพร้อมที่จะมีบุตร รวมถึงเลือกวิธีคลอดที่เหมาะสมกับสุขภาพของแม่และทารก จะช่วยให้สุขภาพเด็กที่เกิดมาสมบูรณ์แข็งแรง พร้อมเป็นกำลังขับเคลื่อนสังคมในอนาคต …เหล่านี้เป็น “ข้อมูลน่าพิจารณา” กับการ “คลอดลูก”

“มีลูกปีมังกร” ก็ว่ากันไป…ที่ “เชื่อว่าดี”

ส่วน “เน้นฤกษ์ผานาที…คิดให้ดีด้วย”

ฤกษ์ดี… “สุขภาพลูกจะดีหรือเปล่า?”.