ซึ่งกับคำถามลักษณะนี้นั้น…

“มุมจิตวิทยา” ได้ “มีการอธิบายไว้”...

โดยมีการ “ชี้ว่ามีปัจจัยข้อผิดพลาด”

ทั้งนี้ วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลกรณี “ทำไมพ่อแม่ที่ดีจึงเลี้ยงลูกได้ไม่ดี??” ซึ่งกับเรื่องนี้ทาง รศ.ดร.เพ็ญพิไล ฤทธาคณานนท์ อาจารย์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความรู้ไว้ในบทความซึ่งมีการเผยแพร่อยู่ใน www.psy.chula.ac.th โดยระบุถึงเรื่องนี้ไว้ว่า… การเป็นพ่อแม่ที่ดีนับเป็นภารกิจที่แสนยาก เพราะถึงแม้พ่อแม่จะมีความตั้งใจ และพยายามอย่างสุดความสามารถแล้ว แต่ลูก ๆ ก็อาจจะยังเป็นเด็กดื้อ หรือมีพฤติกรรมที่เป็นปัญหา ซึ่งปัญหานี้เป็นที่สนใจของวงการจิตวิทยา โดยได้มีการติดตามศึกษาถึงพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อค้นหาคำตอบให้กับเรื่องนี้…

รศ.ดร.เพ็ญพิไล ได้ระบุไว้ในบทความต่อไปว่า…ผลศึกษาของนักจิตวิทยาในสหรัฐอเมริกา พบว่า… พ่อแม่ที่ดี แต่เลี้ยงลูกได้ไม่ดี อาจมีสาเหตุมาจาก “ข้อผิดพลาด 8 ประการ” ที่บรรดาพ่อแม่มักจะทำบ่อย ๆ ในการอบรมเลี้ยงดูลูก โดยไม่ได้คาดคิดว่า…ข้อผิดพลาดเหล่านี้จะกลายเป็น “ปัจจัยปัญหา” ซึ่งกับ 8 ข้อผิดพลาดนั้น มีดังต่อไปนี้คือ…

ประการแรก “พ่อแม่ไม่ได้กำหนดขอบเขตความประพฤติให้ลูก” โดยพ่อแม่หลายคนอาจมีการตั้งกฎกติกาให้ลูกปฏิบัติตาม แต่เมื่อลูก ๆ เกิดอาละวาดขึ้นมา หรือร้องไห้ ปรากฏว่า…พ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะยอมแพ้ลูก ด้วยเหตุผลที่ว่า…อยากให้ลูกมีความสุขที่สุด จึงไม่อยากขัดใจ และผลที่ตามมาก็คือ…พ่อแม่ต้องเลี้ยงลูกแบบตามใจ ส่งผลให้ลูก มีความรู้สึกต่อต้านและท้าทาย เพิ่มขึ้น เนื่องจากพ่อแม่ไม่มีการวางกรอบให้ลูก ด้วยเหตุนี้ลูก ๆ บางคนจึงต้องการทดสอบพ่อแม่ว่าจะยอมตามใจได้ถึงไหน? แต่พอนานวันเข้าลูกเองก็จะรู้สึกว่าไม่มั่นคงปลอดภัย …นี่เป็นข้อผิดพลาดประการแรกที่มักจะพบบ่อย ๆ…

ข้อผิดพลาดที่พบบ่อยในการเลี้ยงลูก!!

ประการที่สอง “พ่อแม่ปกป้องคุ้มครองลูกมากเกินไป” โดยข้อผิดพลาดนี้มีครู ผู้ฝึกสอน นักจิตบำบัด ตั้งข้อสังเกตว่า…พ่อแม่ยุคปัจจุบันมักไม่สามารถทนเห็นลูกล้มเหลวหรือประสบความยากลำบากได้ ทำให้พ่อแม่มักจะเข้าไปแทรกทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของลูก ตั้งแต่การที่ลูกทะเลาะกับเพื่อน จนถึงเรื่องผลการเรียนของลูก ที่สำคัญพ่อแม่บางคนยังตามไปปกป้องคุ้มครองลูกแม้ลูกจะจบการศึกษาหรือเข้าทำงานแล้ว ซึ่งการที่มีพฤติกรรมปกป้องลูกมากเกินไปทำให้ลูก ไม่ได้เรียนรู้ความล้มเหลว หรือความผิดพลาด จึงไม่รู้จักวิธีเผชิญกับปัญหา ส่งผลให้เติบโตขึ้นเป็นคนกลัวปัญหา ขาดแรงจูงใจในชีวิต

ประการที่สาม “พ่อแม่ชอบพูดซ้ำซาก และตะโกนใส่ลูก” ซึ่งงานวิจัยบางชิ้นพบว่า…มนุษย์จะไม่ค่อยรับฟังคำสั่งที่ซ้ำกัน ในขณะที่พ่อแม่หลายคนเข้าใจผิดคิดว่า…ต้องใช้อารมณ์ ต้องพูดเสียงดัง หรือพูดประชดประชัน ลูกจึงจะยอมทำตาม ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด โดยผลที่ตามมาคือลูก เลียนแบบวิธีพ่อแม่ เพราะเข้าใจว่าการทำเช่นนี้ช่วยให้เป็นจุดสนใจ

ประการที่สี่ “พ่อแม่ชมเชยลูกมากเกินไป หรือชมเชยไม่ถูกจุด” ซึ่งการชมเชยทำให้เด็กรู้สึกดีและมีแรงจูงใจที่จะทำสิ่งดี แต่ปัญหาคือพ่อแม่พูดคำชมเชยไม่เป็น ซึ่งส่วนมากพ่อแม่มักจะใช้คำกว้าง ๆ เช่น ดีมาก หรือเป็นคำที่เกี่ยวกับตัวเด็ก แทนที่จะเป็นคำเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กทำ ซึ่งคำชมเชยลักษณะนี้ทำให้เด็ก เกิดแรงจูงใจน้อยลง และมีความเชื่อมั่นน้อยลง

ประการที่ห้า “พ่อแม่ลงโทษลูกรุนแรงเกินไป” ทั้งนี้ เป้าหมายของการลงโทษนั้นไม่ใช่การทำให้ลูกเจ็บ แต่คือการสอนลูกให้ได้เข้าใจถึงสิ่งที่ทำผิดลงไป ซึ่งการลงโทษที่จะได้ผลดีที่สุดนั้น…คือการลงโทษทันทีเมื่อลูกทำผิด และก็ควรเป็นการลงโทษที่ใช้เวลาสั้น ๆ เพราะเด็กยังสามารถเชื่อมโยงกับความผิดที่ได้ทำไป ที่สำคัญการลงโทษจะต้องไม่รุนแรง

ประการที่หก “พ่อแม่ชอบบอกลูกว่าควรรู้สึกอย่างไร” โดยหนังสือเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูส่วนใหญ่ก็มักแนะนำวิธีกำจัดพฤติกรรมไม่พึงปรารถนาของลูก ๆ ทั้งที่ ความสามารถในการร่วมรู้สึกกับผู้อื่นนั้นเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ทำให้คนเราสามารถมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นได้ ดังนั้น การปล่อยให้ลูกได้มีโอกาสคิดถึงความรู้สึกตัวเอง จะช่วยนำไปสู่การทำความเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นด้วย จนทำให้เด็กเติบโตขึ้นเป็นคนที่รู้จักยับยั้งชั่งใจ และไม่ไปทำร้ายความรู้สึกของคนอื่น

ประการที่เจ็ด “พ่อแม่ให้ความสำคัญกับคะแนนสอบของลูกมากที่สุด” มากกว่าความริเริ่มสร้างสรรค์ ซึ่งจะทำให้ลูกเข้าใจผิดคิดว่า…ควร เรียนรู้แค่สิ่งที่พ่อแม่อยากเห็น จนขาดความริเริ่มสร้างสรรค์ หรือเป็นคนยอมแพ้อะไรง่าย ๆ

ประการสุดท้าย “พ่อแม่มักลืมที่จะเล่นสนุกกับลูก” ซึ่งนักจิตวิทยาพบว่า…ในครอบครัวที่มีปัญหา พ่อแม่ลูกมักไม่ค่อยได้หัวเราะหรือเล่นสนุกร่วมกัน ปฏิสัมพันธ์ในครอบครัวมักเป็นการแก้ไขความขัดแย้ง ว่ากล่าวสั่งสอน และตำหนิติเตียน มากกว่า ดังนั้น พ่อแม่ควรถามตนเองว่า…ได้หัวเราะและเล่นสนุกกับลูกครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่?? …ทั้งนี้ เหล่านี้เป็น “8 ข้อผิดพลาด” ที่ทาง รศ.ดร.เพ็ญพิไล ฤทธาคณานนท์ ได้ระบุไว้ว่า “มักพบได้บ่อยในการเลี้ยงดูลูกของพ่อแม่” ซึ่ง…

อาจ “เป็นส่วนหนึ่งของปัจจัย-สาเหตุ”

ที่ “ทำให้ลูกมีพฤติกรรมที่เป็นปัญหา”

เกิดกรณี “พ่อแม่ดีแต่ลูกกลับร้าย??”.