“…เป็นรางวัลเชิดชูเกียรติบุคคลที่เป็นศิษย์เก่าดีเด่นมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งจัดโดยสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อมอบให้กับศิษย์เก่าซึ่งเป็นผู้มีคุณธรรมและจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ตลอดจนสร้างผลงานดีเด่นเป็นแบบอย่างต่อสังคมและประเทศชาติ ทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ…” …นี่เป็น “หัวใจสำคัญ” ของ 2 รางวัลเกียรติยศ คือ รางวัล “มหิดลทยากร” และ รางวัล “คนดี ศรีมหิดล” โดยวันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” มีเรื่องราวเส้นทางของบุคคลซึ่งได้รับรางวัล 3 ท่าน นำมาบอกเล่า…นำมาให้ศึกษาถึงผลงานที่เป็นประโยชน์ยิ่งต่อสังคมไทย…

ผู้ได้รับรางวัลเกียรติยศดังกล่าวนี้ นอกจากเป็นผู้มีผลงานเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศ ยังเป็นผู้ “มีคุณธรรม-มีจริยธรรม” ในวิชาชีพ โดยรางวัลประจำปี 2566 มีผู้ได้รับรางวัลทั้ง 2 ส่วน รวม 13 ท่าน ซึ่ง ณ ที่นี้ในวันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” จะนำเสนอเรื่องราวผู้ได้รับรางวัล 3 ท่าน โดยเริ่มจาก… “ศ.เกียรติคุณ พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์” หนึ่งในผู้ได้รับ รางวัล “มหิดลทยากร” โดยอาจารย์เป็นหนึ่งในผู้มีส่วนสำคัญในการ ผลักดัน “การป้องกันและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น” ด้วยการบูรณาการขับเคลื่อนการทำงานในเขตพื้นที่เทศบาลทั่วประเทศ เชื่อมโยงให้ทุกหน่วยงานหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลวัยรุ่นอย่างครบถ้วน เพื่อให้เกิด “โมเดลต้นแบบ” สำหรับแก้ไขป้องกันปัญหาให้กับประเทศไทย

ศ.เกียรติคุณ พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์

การทำงานที่ผ่านมาของอาจารย์นั้น มีผลงานที่โดดเด่นต่าง ๆ อาทิ ผลงาน วิจัยด้านพิษวิทยาเกี่ยวกับสารตะกั่วในกลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยงสูง ต่อการได้รับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่อันตรายต่อสติปัญญาของเด็ก โดยผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างการตระหนักเรื่องพิษภัยสารตะกั่ว ที่สำคัญงานวิจัยนี้ทำให้สังคมไทยตื่นตัวกับพิษภัยของสารตะกั่ว จนเกิดการ “รณรงค์ให้ใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว” ในเวลาต่อมา ขณะที่อีกหนึ่งผลงานวิจัยชิ้นสำคัญของอาจารย์สุวรรณาก็คือ การประยุกต์ใช้วัคซีนโรคไวรัสตับอักเสบบีผู้ใหญ่นำมาแบ่งเป็นขนาดที่ใช้ในเด็ก ที่ทำให้ “เด็กไทยเข้าถึงวัคซีนได้มากขึ้น” ทั้งยังช่วย “ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข” ของไทยอีกด้วย

และนอกจากงานด้านวิจัยแล้ว อาจารย์สุวรรณา ยังเป็นหนึ่งในผู้ที่วางแนวคิดสำคัญต่าง ๆ เอาไว้หลายเรื่อง โดยทุกเรื่องมีเป้าหมายสำคัญคือ “เพื่อช่วยเหลือคนไข้” อาทิ… เสนอแนวคิด การแก้ปัญหาให้คนไข้โรคมะเร็งที่มารับยาเคมีบำบัดในโรงพยาบาลรามาธิบดีที่มาไม่ตรงตามกำหนดนัด ซึ่งปัญหานี้เกิดจากการที่จำนวนเตียงคนไข้มีไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งได้รับยาล่าช้า โดยอาจารย์สุวรรณาได้มีการ “ปรับเปลี่ยนกระบวนการใหม่” จากเดิมที่เป็นระบบผู้ป่วยใน ก็เปลี่ยนเป็นผู้ป่วยนอกแบบ Short stay service ส่งผลให้ 1 เตียงแบบผู้ป่วยในรองรับผู้ป่วยนอกได้เพิ่มขึ้น ทำให้คนไข้ได้รับยาเคมีบำบัดตรงกำหนดเวลา ทั้งยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและลดขั้นตอนให้คนไข้ได้รับความสะดวกยิ่งขึ้น โดยโครงการนี้ได้รับรางวัลดีเด่นจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ถัดมา… การพัฒนาระบบการบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ (Day Case Surgery) รวมทั้งปรับหอผู้ป่วยวิกฤติศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ให้เป็นห้องเดี่ยวเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดี เพื่อให้คนไข้ได้มีบรรยากาศเอื้อต่อการรักษาพยาบาล ซึ่งทำให้คนไข้ฟื้นตัวไวขึ้น โดยโครงการนี้ได้รับรางวัล Healing Environment Award จากสถาบันรับรองและพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล (สรพ.) ปี 2552

ศ.เกียรติคุณ พญ.สุวรรณา

ที่สำคัญ อาจารย์ยังเป็นอีกคนหนึ่งที่เล็งเห็น “ความสำคัญ” ของ “การสื่อสารความรู้สู่สังคม” จึงผลักดันให้เกิด รายการ RAMA CHANEL ขึ้นเพื่อเป็น ช่องโทรทัศน์เพื่อสุขภาพดี 24 ชั่วโมง ภายใต้แนวคิดว่าทำอย่างไรผู้ป่วยจะได้ประโยชน์ระหว่างรอตรวจ และสามารถสื่อสารเรื่องราวการแพทย์ให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย ๆ อนึ่ง แม้ปัจจุบันอาจารย์จะเกษียณแล้ว แต่ก็ยังคงทำงานอย่างต่อเนื่องกับองค์กร คณะทำงานต่าง ๆ อาทิ เป็นประธานประสานยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ และเป็นรอง ผอ.ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ตั้งแต่ปี 2565 …นี่เป็นบางส่วนของผลงานของ “ศ.เกียรติคุณ พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์” ผู้ได้รับ รางวัล “มหิดลทยากร”

ท่านถัดมาที่ได้รับ รางวัล “มหิดลทยากร” คือ… “ศ.เกียรติคุณ พญ.อำไพวรรณ จวนสัมฤทธิ์” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญการรักษาโรคฮีโมฟีเลีย ผู้นำการเบิกจ่ายแฟคเตอร์เข้มข้นด้วยสิทธิประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย โดยผลงานนี้ของอาจารย์ก่อเกิดการพัฒนาปรับปรุงการดูแลรักษาผู้ป่วยในบริบทของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยอาจารย์เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยโลหิตวิทยาและมะเร็งในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ช่วงปี 2544-2554 และต่อมาดำรงตำแหน่งรอง ผอ.ศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ปี 2551-2554 ก่อนที่ในปี 2554-2556 จะขึ้นดำรงตำแหน่ง ผอ.ศูนย์ฯ นี้

ศ.เกียรติคุณ พญ.อำไพวรรณ จวนสัมฤทธิ์

ทั้งนี้ อาจารย์อำไพวรรณ เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหน่วยโลหิตวิทยาและโรคมะเร็งในเด็กแนวหน้าของประเทศไทย โดยอาจารย์เคยกล่าวไว้ว่า ในอดีตผู้ป่วยมะเร็งมักได้รับการรักษาโดยการฉีดยาเข้าน้ำไขสันหลังบ่อยครั้ง เพื่อป้องกันการกลับมาของโรค แต่ก็ทำให้มีโอกาสรอดได้ไม่ถึงร้อยละ 50 อีกทั้งผู้ป่วยต้องแบกรับภาระค่ารักษาค่อนข้างสูง ขณะที่ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเลือดเอง ที่ไม่ได้เป็นโรคมะเร็งก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย ที่ในคนไทยมีพันธุ์แฝงอยู่ราวร้อยละ 40 ของประชากร ซึ่งถ้าเทียบอัตราส่วนแล้ว ในคนไทย 10 คน จะมีธาลัสซีเมียพันธุ์แฝงได้ 4 คน ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้ต้องได้รับเลือดทุก ๆ เดือน หรือทุก 3 สัปดาห์ ดังนั้นในอดีตจึงจะต้องมารับการรักษาที่โรงพยาบาลเท่านั้น จนทำให้เกิดปัญหาคนไข้ล้น เตียงไม่พอ ซึ่งจากกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ทางอาจารย์จึงมีแนวคิด รักษาผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียแบบครบวงจรและยั่งยืน ด้วยการดูแลคุณภาพชีวิตผู้ป่วยให้ดีแบบองค์รวม โดยได้นำความรู้และประสบการณ์จากการอบรมแพทย์เฉพาะทางในต่างประเทศมาประยุกต์ใช้รักษาและดูแลผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียโดยการ ค้นหาวิธีป้องกันไม่ให้มีผู้ป่วยรายใหม่ในครอบครัว ด้วยวิธีการให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยส่วนประกอบของเลือดหรือแฟคเตอร์เข้มข้น หากเริ่มมีอาการเลือดออกที่บ้านหรือโรงพยาบาลใน 1-2 ชั่วโมง โดยสอนให้ผู้ป่วยหรือผู้ปกครองฉีดส่วนประกอบของเลือดหรือแฟคเตอร์เข้มข้นเข้าหลอดเลือดดำได้ด้วยตนเอง ก่อนที่วิธีและแนวคิดนี้จะขยายผลสู่ผู้ป่วยฮีโมฟีเลียทั่วประเทศ

อีกทั้งยังได้ ออกแบบการให้การรักษาแบบป้องกันแก่ผู้ป่วยเด็กเล็กโรคฮีโมฟีเลีย โดยความร่วมมือของผู้ปกครองและผู้ป่วยในการป้องกันอาการเลือดออก ด้วยการฉีดแฟคเตอร์เข้มข้นสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ขนาด 10-20 ยูนิต/กก./ครั้ง โดยดัดแปลงวิธีการของประเทศตะวันตกที่ให้สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ขนาด 25-40 ยูนิต/กก./ครั้ง ซึ่งปรากฏว่าได้ผลดี อีกทั้งช่วยให้ผู้ป่วยโรคนี้และครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น ภายใต้บริบทประเทศไทยที่มีทรัพยากรจำกัดในระบบสาธารณสุข

ศ.เกียรติคุณ พญ.อำไพวรรณ

นอกจากนี้ อาจารย์อำไพวรรณ ยังเป็นผู้ริเริ่ม ผลักดันให้การดูแลผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียเป็นนโยบายแห่งชาติอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เนื่องจากอาจารย์มองว่า โรคฮีโมฟีเลียเป็นโรคเรื้อรังที่มีค่าใช้จ่ายสูง และต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นถ้าหากช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้อง admission ในโรงพยาบาล ไม่เพียงจะทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวได้รับความสะดวก แต่ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลได้อีกทางหนึ่งด้วย จึงนำไปสู่การก่อตั้ง “โครงการโรคฮีโมฟีเลีย” ขึ้น โดยขณะนี้โครงการดังกล่าวได้ดำเนินงานมาเป็นเวลา 17 ปีแล้ว …นี่เป็นเส้นทางและผลงานของ “ศ.เกียรติคุณ พญ.อำไพวรรณ จวนสัมฤทธิ์” อาจารย์หมออีกหนึ่งท่านที่ทุ่มเทเสียสละเพื่อผู้ป่วย และได้รับการเชิดชูเกียรติ ได้รับ รางวัล “มหิดลทยากร”

สำหรับท่านที่ 3 ที่ “ทีมวิถีชีวิต” จะนำเสนอเรื่องราว เป็นผู้ที่ได้รับ รางวัล “คนดี ศรีมหิดล” ประเภทอาจารย์ ปี 2566 คือ… “รศ.ดร.ภญ.จุฑามณี สุทธิสีสังข์” ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรักษาการแทน ผอ.สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีเภสัชศาสตรบัณฑิต คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (เภสัชวิทยา) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และทำงานเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมหิดลมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน โดยอาจารย์จุฑามณีได้นำแนวคิดการวางระบบการทำงานที่ครบวงจรมาใช้ เพื่อหาประเด็นที่เป็นจุดวิกฤติ ภายใต้หลักแนวคิดที่ว่า เมื่อพื้นฐานดี การจะขับเคลื่อนก็จะเกิดขึ้นได้ง่าย เปรียบเสมือนการสร้างบ้าน ถ้าหากพื้นแน่น เมื่อกระโดด พื้นก็ย่อมไม่พัง เพราะมีฐานที่ดี และสำหรับผลงานนั้น อาจารย์มีผลงานที่โดดเด่นหลายด้าน อาทิ ขณะดำรงตำแหน่งคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ผลักดันให้คณะเภสัชศาสตร์เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด และเมื่อขึ้นสู่ตำแหน่งรองอธิการบดี ก็ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี และแผนปฏิบัติการ 4 ปี รวมทั้งกำหนดการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ผ่าน Flagship projects เพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถวางแผนงบประมาณสนับสนุนได้ตรงประเด็น ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น ซึ่งอีกหนึ่งผลงานสำคัญก็คือ ขณะดำรงตำแหน่งรักษาการ ผอ.ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ของศูนย์ฯ กับปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรใหม่ จนทำให้ศูนย์ฯ ดังกล่าวมีรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนพ้นวิกฤติทางการเงินได้ในที่สุด …นี่เป็นผลงานส่วนหนึ่งของ อาจารย์จุฑามณี

รศ.ดร.ภญ.จุฑามณี สุทธิสีสังข์

ขณะที่ในฐานะเภสัชกรและนักเภสัชวิทยา อาจารย์ก็มีบทบาทสำคัญในการ ให้ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบต่อสมองและสุขภาพจากการใช้กัญชา ผ่านการเป็นวิทยากรในโครงการสำคัญต่าง ๆ อาทิ หลักสูตรการใช้กัญชาทางการแพทย์ กรมการแพทย์ เป็นต้น ส่งผลให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อผลกระทบจากกัญชา ทั้งวงการแพทย์และประชาชนในวงกว้าง ทั้งนี้ กับรางวัลที่ได้รับ ทางอาจารย์กล่าวว่า “รู้สึกภูมิใจที่ได้รับรางวัลนี้ ต้องขอขอบคุณสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่เล็งเห็นความตั้งใจทุ่มเทตลอดระยะเวลาการทำงานที่นี่ ซึ่งนอกจากจะเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยแล้ว ที่นี่ยังมีพันธกิจสำคัญในการให้บริการทางการแพทย์ รวมถึงเป็นหน่วยให้บริการวิชาการและวิชาชีพที่มีมาตรฐานสูงแก่ประชาชนคนไทยอีกด้วย” …นี่เป็นความรู้สึกจาก “รศ.ดร.ภญ.จุฑามณี สุทธิสีสังข์” อีกหนึ่งผู้ได้รับ รางวัล “คนดี ศรีมหิดล”

รศ.ดร.ภญ.จุฑามณี

…และนี่ก็เป็นบางส่วนจาก “แง่คิด-ผลงาน” ผ่านเรื่องราว “อาจารย์ด้านการแพทย์ 3 ท่าน” ที่ได้รับรางวัลเกียรติยศดังที่ระบุมาข้างต้น โดย “เบื้องหลังความสำเร็จ” ของแต่ละท่านมี “คีย์เวิร์ดที่เหมือนกัน” นั่นคือ…นอกจากจะเป็นผู้ที่ “ตั้งใจดี” แล้ว ก็ยัง “มุ่งมั่นทุ่มเทเสียสละ” ทำในสิ่งที่ตั้งใจ เพราะทุกท่านล้วน “มีจุดมุ่งหมายสำคัญ” นั่นก็คือ…“เพื่อคนไข้-เพื่อสังคม-เพื่อประเทศ”.

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ : รายงาน