ร้อนฉ่า!! กันขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อกระทรวงการคลัง ได้ออกมาตีฆ้องร้องป่าวประกาศจะเก็บภาษีการ “ขายหุ้น” ในอัตรา 0.1% อีกครั้ง หลังจากได้รับการยกเว้นมานานกว่า 30 ปี หรือตั้งแต่ปี 2534 โน่น

เหตุผลหลักในช่วงนั้น…ก็เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ หรือตลาดหุ้นไทย เพื่อให้ตลาดทุนไทยเกิดการพัฒนา จนกลายเป็น “เสน่ห์” สำคัญดึงดูดเงินทุนจากต่างชาติ และมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้

การยกเว้นที่ผ่านมา ต้องถือว่าประสบความสำเร็จมากมาย เพราะขนาดของตลาดทุนไทยในเวลานี้ เรียกได้ว่าใหญ่ที่สุดในอาเซียนก็ว่าได้

เพราะในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 มูลค่าการระดมทุนผ่านตลาดทุนไทยสูงถึง 3,329 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.1 แสนล้านบาท ซึ่งมีมูลค่าสูงที่สุดในอาเซียน

ขณะเดียวกันในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ที่ผ่านมา ยังพบว่า ยอดเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นใหม่อยู่ที่ 1,156,290 บัญชี เพิ่มขึ้น 188.04% ทำให้ในปัจจุบัน มีจำนวนบัญชีซื้อขายหุ้นทั้งหมด 4,670,287 บัญชี นับตั้งแต่ ก.พ. 2563

ด้วยความหอมหวลของตลาดทุนไทยที่กำลังก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นแหล่งระดมเงินทุน เป็นแหล่งหารายได้ เป็นจำนวนไม่น้อยทีเดียว

ก่อนหน้านี้ มีกระแสเรียกร้องเกิดขึ้นมากมายว่า รัฐบาลจัดเก็บภาษีทุกเม็ด ยกเว้นภาษีที่เรียกเก็บจากคนรวย โดยเฉพาะการซื้อขายหุ้น

ขณะเดียวกันด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ รัฐบาลได้แต่ “ใช้เงิน” เพื่อประคับประคองให้เศรษฐกิจยังคงอยู่ต่อไปได้ขณะที่ “การหารายได้” ของรัฐบาลก็แสนยากลำบาก เพราะเศรษฐกิจตกสะเก็ด เอกชนไม่มีเงินจ่ายภาษีให้

โดยผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในปีงบประมาณ 64 ซึ่งสิ้นสุดไปเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ต่ำกว่าเป้าหมายถึง 3.07 แสนล้านบาท

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก!! ที่รัฐบาลต้องเดินหน้าทุกเม็ด เพื่อหารายได้ให้เพิ่มขึ้นให้ได้ เพราะ ณ เวลานี้ มีรายจ่ายอยู่สารพัด ซึ่งก็หนีไม่พ้นเรื่องของ “ภาษี” ซึ่งเรามักได้ยินกระทรวงการคลังออกมาเปรยอยู่ตลอดเวลาว่าต้องมีการปรับ มีการปฏิรูปโครงสร้างภาษี ให้เป็นความเป็นธรรม

แม้ว่าในความจิรงแล้วเรื่องของภาษีเพื่อการบริโภคอย่าง “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” หรือแวต ถือเป็นวิธีเร่งรัดที่เร็วที่สุดในการหารายได้ของรัฐบาล เพราะทุก 1% ที่เพิ่มขึ้น จะทำให้รัฐบาลมีรายได้แล้วอย่างน้อย 50,000 ล้านบาท

แต่!! ไม่มีรัฐบาลไหนกล้าทำแน่นอน!! เพราะเท่ากับฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาเช่นนี้ในเวลาที่เศรษฐกิจยังย่ำแย่ และเพื่อสยบสารพัดข่าวลือ รัฐบาลจึงต้องออกมติ ครม.เพื่อต่ออายุการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 7% ไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย. 66

เช่นเดียวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่สามารถสร้างรายได้ให้ไม่น้อยเช่นกัน รัฐบาลก็ไฟเขียวให้จัดเก็บในอัตราเดิมไปก่อน อีก 2 ปี ไปจนถึงปี 66 ด้วยเพราะเจอพิษจากโควิด นั่นหมายความว่าบรรดา “เศรษฐี” ก็เบาใจไปได้อีก 2 ปี

หันมาที่ตลาดหุ้นไทย ที่ล่าสุด ขณะนี้การซื้อขายหุ้นเฉลี่ยต่อวัน อยู่ที่ 95,344 ล้านบาท เกือบ ๆ 1 แสนล้านบาท นั่นแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่มีรายได้จากตลาดหุ้นมีอยู่จำนวนไม่น้อยทีเดียว

ล่าสุด!!! “เอกนิติ  นิติภัณฑ์ประภาศ” อธิบดีกรมสรรพากร ออกมายืนยันชัดเจนว่า การเรียกเก็บภาษีขายหุ้น ในครั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนบรรดารายย่อย ที่มีกว่า 85% ในตลาดหุ้นไทยแน่นอน

โดยเวลานี้สิ่งที่กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง กำลังศึกษาแนวทาง ก็มีทั้ง การขายหุ้นในตลาด เดือนละ 1 ล้านบาทขึ้นไป 1.5 ล้านบาทขึ้นไป หรือตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป

ไม่เพียงเท่านี้ ยังได้ศึกษารายละเอียดของ ภาษีกำไรจากการขายหุ้น หรือแคปปิตอล เกน เพิ่มเติม แต่อาจติดขัดเรื่องของกฎหมายที่ต้องใช้เวลา เพราะมีกระบวนการในการออกกฎหมาย

แน่นอน!! การเรียกเก็บภาษีการขายหุ้นครั้งนี้ ย่อมกระเทือนบรรดานักเล่นหุ้น เป็นจำนวนไม่น้อย จนทุกฝ่ายต้องออกมาส่งเสียงร้องกันระงม แม้คลังจะออกมาการันตีว่าบรรดารายย่อยไม่กระเทือนก็ตาม

แต่อย่าลืมว่า ในตลาดหุ้นไทย มีแต่ “คนเสียงดัง” แทบทุกวงการ ถามว่า คนเหล่านี้หรือประมาณ 15% ของคนเล่นหุ้น จะยอมมั้ย กับการเสียเงินให้กับรัฐบาล!!!

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”