พบกับคอลัมน์ “สังคมภูมิภาค” ออนไลน์ทุกวันเสาร์ “เมธ บานเย็น” ศูนย์ข่าวเดลินิวส์ภาคอีสานตอนล่าง มารับใช้ผู้อ่านบนโลกออนไลน์ เช่นเดิม วันนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 8 มกราคม 2565

@ เชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ “โอมิครอน” กลายมาเป็นความเสี่ยงใหม่ต่อเศรษฐกิจ ทุกภาคส่วนของประเทศอีกครั้ง เพราะขณะนี้มีการยืนยันจากกระทรวงสาธารณสุขแล้วว่า…เราได้เข้าสู่การระบาดระลอกใหม่อีกครั้งแล้ว เพราะมียอดตรวจ ATK เป็นบวกเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง

@ แต่อย่างก็ตาม “โอมิครอน” กลายพันธุ์นี้ มีวิวัฒนาการเปลี่ยนไปจากเดิมมาก ปรับตัวเองให้เข้ากับคนได้ดียิ่งขึ้น แพร่จากคนสู่คนง่ายขึ้น ลดระยะฟักตัว และเปลี่ยนจากการก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจอักเสบ ทั้งส่วนบนและส่วนล่างรุนแรงเฉียบพลัน กลายเป็นเชื้อโคโรนาไวรัส ที่ทำให้เกิดหวัดเล็กธรรมดา ไม่รุนแรง เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ไม่ค่อยลงปอด เหมือนกับเชื้อโคโรนาไวรัส สายพันธุ์อื่นๆ

@ ฉะนั้นแม้ไวรัสจะแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว แต่หากความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ Delta และวัคซีนที่ใช้ในปัจจุบันสามารถลด หรือจำกัดระดับความรุนแรงของอาการป่วยได้ เราก็ไม่ควรต้องตื่นตระหนก จนต้องทำให้เศรษฐกิจทุกภาคส่วน ต้องหยุดชะงักงันกันอีก

@ แต่ก็ต้องมีมาตรการคุ้มเข้มต่างๆ ประกาศออกมาเป็นธรรมดา เริ่มที่ จ.นครราชสีมา…นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ออกหนังสือด่วนที่สุด ถึงหัวหน้าส่วนราชการทุกอำเภอ เพื่อให้ยกระดับมาตรการป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 เชื้อโอมิครอน ระบาดหนักหลังเทศกาลปีใหม่ โดยให้หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ หรือบุคลากรในความรับผิดชอบ พิจารณาการปฏิบัติเข้มข้นจนถึงวันที่ 14 มกราคม ให้เจ้าหน้าที่ “Work From Home” ตามความเหมาะสม หลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมที่ส่งผล ให้เกิดการรวมกลุ่ม หรือเคลื่อนที่ของกลุ่มคนจำนวนมาก เช่น การประชุม การสัมมนา การฝึกอบรม การจัดสอบ เป็นต้น หากมีความจำเป็นให้จัดกิจกรรมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มากที่สุด ฯลฯ

@ ส่วนที่ จ.อุบลราชธานี… “นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์” ผู้ว่าราชการจังหวัด พบว่าการแพร่เชื้อโควิด-19 ในจังหวัด มียอดผู้ติดเชื้อสูงเป็นลำดับต้นของประเทศ ทั้งสายพันธุ์เดลตา โอมิครอน มากเกิน 300 รายทุกวัน ตลอดสัปดาห์ จึงขอความร่วมมือประชาชนที่มาเดินทางมาติดต่อราชการกับสถานที่ราชการ ต้องมีผลฉีดวัคซีนครบโด๊ส หรือผลตรวจ ATK ไม่เกิน 48 ชั่วโมง พร้อมได้สั่งการให้ทุกส่วนราชการ ทำแผนการปฏิบัติงานที่บ้าน Work from home และ บุคลากรที่มาฏิบัติงานให้ตรวจ ATK ครบ 100% และครั้งต่อไปกำหนดสุ่มตรวจ ATK ทุกหน่วยงาน..ส่วนร้านอาหาร ผับ สถานบริการต่างๆ ให้ปฏิบัติตามคำสั่ง ศบค.อย่างเคร่งครัด ด้านโรงเรียนให้ปิดโรงเรียนให้ครูสอนทางออนไลน์ ด้าน อสม. รพ.สต. และสาธารณสุขอำเภอ นายอำเภอ ให้ร่วมกันทำการตรวจคัดกรองผู้สงสัยเป็นกลุ่มเสี่ยงเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดตามแผนมาตรการเข้มข้นเดิม

@ ทางด้าน จ.ชัยภูมิ…ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามมาอีกจำนวนมาก ต่อเนื่องในช่วงหลังห้วง 7 วันหลังปีใหม่ จากนี้ไปด้วยยังต้องเข้มงวดอีกต่อเนื่อง จึงได้มีประกาศจังหวัดตามมาตรการเข้ม ขยายเวลาปิดโรงเรียนงดเรียนแบบออนไซต์เพิ่มอีกยาว จนถึงวันที่ 18 ม.ค. รวมทั้งขอให้งดการจัดงานกิจกรรมงานที่มีการร่วมกลุ่มคนจำนวนมาก ทั้งงานประจำปีเจ้าพ่อพญา ที่จะมีขึ้นทุกปีในช่วง 12-20 ม.ค.ของทุกปี รวมทั้งงานวันเด็ก และวันครูแห่งชาติในช่วงวันที่ 8-16 ม.ค.ปีนี้ด้วยแล้ว

@ ที่ จ.ศรีสะเกษ… “นายวัฒนา พุฒิชาติ” ผู้ว่าราชการจังหวัด เผยถึงสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 (ข้อมูลเมื่อวันที่ 5 ม.ค.65) พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 30 ราย ซึ่งพบว่าเป็นผู้ติดเชื้อภายในจังหวัด 18 ราย คิดเป็นร้อยละ 60 ของจำนวนผู้ติดเชื้อ และติดเชื้อเข้ามาจากภายนอกจังหวัดเสี่ยง จำนวน 12 ราย คิดเป็นร้อยละ 40 ของจำนวนผู้ติดเชื้อ มากสุดที่ อ.ราษีไศล 9 ราย รองลงมาคือ อ.เมือง อ.โนนคูณ อ.เบญจลักษ์ อำเภอละ 2 ราย และอ.กันทรลักษ์ อ.กันทรารมย์ อ.ศรีรัตนะ อำเภอละ 1 ราย อย่างไรก็ตามขณะนี้ จ.ศรีสะเกษ ยังคงเข้มมาตรการควบคุมพื้นที่ผู้ที่เดินทางเข้าพื้นที่จังหวัดทุกราย ต้องไปรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข/อสม./ผู้นำชุมชนในพื้นที่ทันที เมื่อเดินทางถึงภูมิสำเนา หรือที่พักอาศัยในจังหวัด และสแกน QR code เพื่อลงทะเบียนและตกรองประวัติการเดินทางจากพื้นที่เสี่ยง พร้อมแสดงหลักฐาน หรือ เอกสารอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้ ต้องมีผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี Antigen Test Kit (ATK) “ผลตรวจเป็นลบ” หรือ วิธี RT-PCR ผลตรวจไม่พบเชื้อ ต้องแสดงเอกสารยืนยันผลตรวจไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทางเข้าพื้นที่ “ไม่ต้องกักตัว” และเมื่อเสร็จภารกิจแล้วให้รีบออกไปโดยเร็ว เพื่อป้องกันควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด

@ ส่วนทางด้านชายแดนไทย-กัมพูชา ที่ จ.สุรินทร์… “พล.ต.ท.สราวุฒิ การพานิช” ผู้ช่วย ผบ.ตร.ลงพื้นที่ติดตามการปฏิบัติการสกัดกั้น และสืบสวนปราบปรามขยายผลเครือข่ายการกระทำความผิดเกี่ยวกับบุคคลต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เพื่อเพิ่มมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งการค้ามนุษย์ ยาเสพติด และของผิดกฎหมาย กำชับ กวดขันพื้นที่ชายแดน และพื้นที่ชั้นในอย่างเข้มข้น เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ตามแนวชายแดนของไทย เกิดความประมาท

@ จ.บุรีรัมย์.. “นายธัชกร หัตถาธยากูล” ผู้ว่าราชการจังหวัด และประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด กล่าวว่าเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยเฉพาะสายพันธ์ โอมิครอน ที่มีการแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นภายหลังจากนี้ อยากให้ประชาชน ที่มีคนในครอบครัวมีพฤติกรรมเสี่ยง หรือมาจากพื้นที่เสี่ยง ให้เฝ้าระวังและสังเกตุอาการของตนเอง หรือแยกกักตัว รักษาระยะห่างทางสังคม หากสงสัยว่าเข้าข่ายติดเชื้อให้รีบแจ้ง เจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ผู้นำชุมชนในพื้นที่ เพื่อขอให้ตรวจคัดกรองเบื้องต้นได้

@ ส่วนที่ จ.ยโสธร… “นายชลธี ยังตรง” ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ขอความร่วมมือส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ใช้มาตรการกำหนดให้บุคลากรของหน่วยงานที่เดินทางกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวช่วงเทศกาลปีใหม่หรือร่วมสังสรรค์/เฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่กับบุคคลที่เดินทางมาจากต่างพื้นที่ โดยดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งหมดก่อนที่จะเข้าปฏิบัติงานตามปกติ ต้องแสดงผลการตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ว่าไม่พบเชื้อไม่เกิน 72 ชั่วโมง ต่อผู้บังคับบัญชา กำหนดแนวทางปฏิบัติงานที่บ้าน (Work from Home) อย่างน้อย 1 สัปดาห์ สลับเวลาการทำงานอย่างน้อย 1 สัปดาห์ หากมีอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ไอ เจ็บคอ หรือมีไข้สูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ให้พักอยู่ที่บ้านเพื่อเฝ้าสังเกตอาการ และรีบไปพบแพทย์ทันที ทั้งนี้ให้เป็นไปตามประกาศจังหวัดยโสธร

@ และ ที่ จ.อำนาจเจริญ…วิกฤติหนักที่มีผู้ใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง มากกว่า 100 ราย ซึ่งเดินทางมาจากต่างจังหวัด ทำปั่นป่วนไม่เคารพกฎหมาย รวมกลุ่ม มั่วสุม เที่ยวดื่มกินจนทำให้ “ทวีป บุตรโพธิ์” ผวจ.อำนาจเจริญ ถึงกับควันออกหู ต้องประกาศจังหวัด นับหนึ่งใหม่ตามมาตรการคุ้มเข้ม ประชาสัมพันธ์มาตรการในการป้องกันเชิงรุกอีกครั้ง

บรรยายภาพข่าวสังคม

จ.อุบลราชธานี…นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมด้วย นายศุภภิมิตร เปาริก รอง ผวจ.ลงพื้นที่ ตรวจความพร้อม รพ. สนามขนาดใหญ่ ที่ ม.ราชภัฏอุบลฯ บ้านยางน้อย อ.เขื่องใน และในอีกหลายอำเภอ เพื่อเตรียมรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีผู้ติดเชื้อสูงในพื้นที่ ทั้งเชื้อเดลตา โอมิครอน หากต้องการความช่วยเหลือด้านต่างๆ

จ.ชัยภูมิ…พระครูบวรวีรวงศ์ (พระอาจารย์ครรชิต อภิญจโน) เจ้าอาวาสวัดวีรวงศาราม จ.ชัยภูมิ พร้อมคณะญาติธรรม มอบเครื่องให้ออกซิเจนความเร็วสูงจำนวน 4 เครื่อง มูลค่ารวม 1 ล้านบาท ให้กับ รพ.ชัยภูมิ ไว้ใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาการหายใจเฉียบพลันและเรื้อรัง ช่วยทำให้ผู้ป่วยรู้สึกหายใจสบายไม่เหนื่อยหอบ โดยมี นพ.ณรงค์ศักดิ์ บำรุงถิ่น ผู้อำนวยการโรงพยาบาล พร้อมแพทย์ พยาบาลร่วมรับมอบ

“ประเมธ เพราะพินิจ” หัวหน้าศูนย์ข่าวเดลินิวส์ ภาคอีสานตอนล่าง รายงาน