รู้ก่อนดู Ghostbusters: Afterlife
ถ้าใครที่เป็นวัยรุ่นในยุค 80 ก็คงจะรู้จักภาพยนตร์เรื่อง “บริษัทกำจัดผี” (Ghostbusters 1984) เป็นอย่างดี เพราะถือเป็นภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์ระดับตำนาน ตัวหนังมีกลิ่นอายของความคลาสสิกในด้านโปรดักชั่นมากมาย ทั้งฉาก สถานที่ เครื่องแต่งกาย ไปจนถึงบทภาพยนตร์ Ghostbusters 1984 กำกับโดย “ไอแวน ไรท์แมน” เขียนบทโดย “แดน แอครอยด์” และ แฮโรลด์ เรมิส” สองนักแสดงตัวเอกของเรื่อง ตัวหนังไม่ได้เน้นเพียงแค่แอ๊คชั่นไซไฟ ที่พยายามจะบอกว่า “ผี” คือพลังงานที่เปลี่ยนสถานะได้ แถมยังจับพวกมันได้ด้วยเครื่องมือชนิดพิเศษ แต่ในหนังยังแฝงไปด้วยเรื่องราวความสัมพันธ์ของเพื่อน ราวกับเป็นครอบครัวเดียวกัน การโชว์มุกตลกด้นสดที่มีลูกเล่นแพรวพราว กวนโอ๊ยในแบบฉบับยุค 80 (บางทีคนในยุคนี้อาจไม่ขำ) พ่วงกับไอคอนที่เป็นสัญลักษ์ผีตัวสีขาว ๆ อยู่ในเครื่องหมายต้องห้าม

สำหรับ ทีมกำจัดผีที่ประกอบไปด้วยสมาชิก 5 คน ได้แก่ 1. “ดร.ปีเตอร์ เวงค์แมน” (รับบทโดย บิล เมอเรย์) หัวหน้าทีมผู้มีวาทศิลป์ในการเจรจา เจ้าเล่ห์ (แบบโกงสุดๆ) เขาไม่ใช่แค่จับผีเก่ง แต่ยังจีบหญิงเก่งซะด้วย, 2. “ดร.เรย์ สแตนท์ส” (รับบทโดย แดน แอครอยด์) นักประดิษฐ์ผู้มีหัวใจใสซื่อ (ตรงข้ามกับปีเตอร์) เรย์เป็นคนตรงไปตรงมา แลดูโผงผางแต่ก็จริงใจมาก ๆ, 3. “ดร.อีกอน สเปงเลอร์” (รับบทโดย แฮโรลด์ เรมิส) เขาคือมันสมองของทีมด้วยทฤษฎีต่าง ๆ ที่เขาค้นพบสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย แต่ด้วยลักษณะนิสัยที่มีความ “เนิร์ด” สูงปรี๊ด!! เลยทำให้การพูดจาดูวิชาการไปหน่อย, 4. วินสตัน เซดเดมอร์ (รับบทโดย เออร์นี ฮัดสัน) หนุ่มผิวสีอารมณ์ขัน เข้ากับทุกคนได้ง่าย แม้เขาจะไม่ใช่ ดร. หรือมีความรู้อะไรมากมาย แต่กลับกลายเป็นคีย์แมนสำคัญ เพราะต้องคอยช่วยแปลภาษวิชาการของเพื่อน ๆ ในทีมให้ผู้คนทั่วไปฟังรู้เรื่อง และ 5. เจนนีน เมลวิทส์ (รับบทโดย แอนนี พ็อตส์) เลขาฯ คนสวย วาจาทิ่มแทงโสตประสาท โดยเฉพาะหนุ่ม ๆ อาจต้องหลงเสน่ห์เธอได้ง่าย ๆ พอมีงานลูกค้าชัวร์ ๆ เธอก็จะแจ้งพิกัดไปให้หนุ่ม ๆ ขับรถ Cadillac 1959 ที่ดัดแปลงใหม่ในชื่อ Ecto-1 ออกไปลุยจับผีมาใส่ในถังเก็บพลังงานเป็นอันเสร็จสิ้นภารกิจ

แม้สมัยยุค 80 ค่ายหนังใช้ทุนสร้างด้วยเงินมากถึง 30 ล้านดอลลาร์ แต่กลับประสบความสำเร็จถล่มทลายกวาดรายได้ไปมากว่า 295 ล้านดอลลาร์ จนต้องมีต่อในภาค 2 ในปี 1989 งานนี้ประสบความสำเร็จเช่นเคยโกยรายได้ไปมากกว่า 215 ล้านดอลลาร์ จากทุนสร้าง 40 ล้านดอลลาร์ จากนั้นเรื่องราวของเหล่าบริษัทปราบผีก็หายไปยาวนาน จนกระทั่งในปี 2016 Sony Pictures ต้องการที่จะคืนชีพ แฟรนไชนส์ Ghostbusters อีกครั้ง การรีบูทเรื่องราวใหม่ทั้งหมด ตัวละครใหม่ (หญิงล้วน) ทั้งยังจับเอา “พี่ธอร์” หรือ “คริส เฮมส์เวิร์ธ” ไปเป็นเลขาฯ หนุ่มคอยยกหูโทรศัพท์ให้สาวๆ โดยให้ชื่อเรื่องว่า Ghostbusters: Answer the Call ซึ่งแม้เหล่านักวิจารณ์จะตบเท้าบอกว่า เป็นหนังดีสนุกมากไปดูกันเถอะ แต่ปราฏว่าเหล่าแแฟนหนังกลับไม่ประทับใจ หนังจึงทำรายไป 229 ล้านดอลลาร์ จากต้นทุนสร้าง 144 ล้านดอลลาร์ เวลาล่วงมาจนถึงปี 2019 ค่าย Sony เจ้าเก่าบอกลาทีมสาว ๆ ก่อนแจ้งว่าได้สร้างหนังภาคต่อจาก 2 ภาคแรกแม้จะห่างกันถึง 30 ปี โดยใช้ชื่อว่า Ghostbusters: Afterlife ซึ่งก็ต้องตามดูต่อไปว่าจะประสบความสำเร็จเหมือน 2 ภาคแรกหรือไม่

เรื่องย่อ Ghostbusters: Afterlife
“คาลลี สเปงเลอร์” (รับบทโดย แคร์รี คูน) คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ลูกสาวของ “ดร.อีกอน สเปงเลอร์” หนึ่งในทีม Ghostbusters ได้รับจดหมายว่า พ่อของเธอได้เสียชีวิตแล้ว เขาทิ้งบ้านและที่ดินในเมืองซัมเมอร์วิลล์ เมืองเล็ก ๆ ใน โอกลาโฮมา เอาไว้ให้เป็นมรดก เธอจึงไม่รอช้าพาลูกชายคนโต “เทรเวอร์” (รับบทโดย ฟินน์ วูล์ฟฮาร์ด) และลูกสาวคนเล็ก “ฟีบี” (รับบทโดย แมคเคนนา เกรซ) ไปอยู่ที่บ้านหลังนั้นในทันทีเนื่องจากครอบครัวกำลังถังแตก สองพี่น้องพบว่าในบ้านเก่ามีห้องลับและอุปกรณ์การจับผี รวมทั้งเครื่องมืออื่น ๆ มากมาย ขณะเดียวกันในพื้นที่ก็เกิดเหตุการณ์ประหลาด ภูติผีจำนวนมากออกอาละวาด เด็ก ๆ พยายามบอกแม่ แต่แม่ไม่เชื่อ พวกเขาจึงต้องหันหน้าไปพึ่ง Ant-Man เอร้อยผิด ๆ “คุณกรูเบอร์” (รับบทโดย พอล รัดด์) เพื่อให้ช่วยคุยกับแม่ แต่ยังไม่ทันไรเหล่าผีและปิศาจร้ายจากบรรพกาลก็ได้หลุดออกมา เรื่องราวจะเป็นอย่างไร ติดตามชมกันได้ในโรงภาพยนตร์เท่านั้น

ความโดเด่นของ Ghostbusters: Afterlife
สานต่อเรื่องราวในอดีตที่หายไปนานกว่า 20 ปี (รุ่นตาไปรุ่นหลาน) งานนี้แฟนหนังยุค 80 อาจต้องกรี๊ดลั่นโรง เพราะโปรดักชั่นในเรื่องนี้ ล้วนนำเอาของเก่ามาปัดฝุ่นจนดูกลายเป็น เรโทร-วินเทจ ภาพที่เราจะเห็นมรดกตกทอดจากรุ่นตามาสู่รุ่นหลาน แม้ของจะดูเก่ามาก แต่กลับแฝงไปด้วยพลังและมีคุณค่าทางจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน รูปภาพ เครื่องของใช้เก่า ๆ ไปจนถึงอุปกรณ์การจับผี สิ่งเหล่าคือการเคารพต้นฉบับดั้งเดิมในปี 1984 ในส่วนของ “บทหนัง” ส่วนใหญ่ไปเน้นตัวละคน 2 พี่น้องซึ่งเป็นตัวละครดำเนินเรื่อง ทั้งสองถ่ายทอดอารมณ์ของเด็ก ๆ ได้ดีมาก ในส่วนของ CG สัตว์ประหลาดหรือปิศาจ ภูติผี ระดับ Sony Pictures ไม่มีผิดหวัง ผู้ชมจะเห็นเหล่าผีตัวเป็น ๆ จากภาคก่อน ๆ มาอาละวาดในยุคปัจจุบัน และสุดท้ายสิ่งที่ทางค่ายหนังได้เน้นย้ำมาตลอด คือ การให้ความสำคัญกับบุคคลในครอบครัว ซึ่งบทหนังแม้จะดูย้อนแย้งในช่วงแรก ๆ ไปบ้าง แต่ก็ยังจัดวางบทให้พลิกกลับมากลายเป็นความซาบซึ้งใจได้ดีในภายหลัง และที่สำคัญที่สุด เนื่องจากตัวละครหลักอย่าง “ดร.อีกอน สเปงเลอร์” ซึ่งรับบทโดย แฮโรลด์ เรมิส ได้เสียชีวิตไปแล้วจริง ๆ นี่จึงเป็นการทำหนังเพื่อระลึกถึงบุคคลที่จากไปแล้วด้วย

จุดอ่อนของ Ghostbusters: Afterlife
การดำเนินเรื่องค่อนข้างกระชับและรวบรัดตัดตอน บางส่วนยังไม่เต็มที่นัก โดยเฉพาะบทคอมเมดี้ หรือ บทตลก คือ ฝืดมาก ผู้ชมอาจไม่เข้าใจบริบทของภาษา แม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะมีภาคภาษาไทย แต่พอไปชมจริง ๆ ก็ยังไม่ตลกอยู่เหมือนเดิม นอกจากนี้ในช่วงต้นเรื่อง ซึ่งไม่มีบทพูดนอกจาก โชว์ภาพที่เล่าเรื่องราวการจากไปของ “อีกอน สเปงเลอร์” ซึ่งก็ดูคลุมเครือเพราะพยายามสร้างภาพให้ผู้ชมคิดไปก่อน ทั้งที่จริงแล้วหากทำให้เกิดความเคลียร์ชัดแต่แรกเริ่ม แบบมีบทบรรยายสักนิด ก็จะทำให้อารมณ์ของความดราม่าตอนหลังเกิดความหนักหน่วงกว่านี้ได้

4/5 กะโหลก ความบันเทิงของคนรุ่นเก่าและใหม่ เป็นส่วนผสมที่ลงตัว แม้ภาคนี้จะห่างจาก 2 ภาคแรก แต่หากใครไม่เคยดูมาก่อน ก็ยังสามารถดูเรื่องนี้ได้รู้เรื่องแน่นอน ไม่ได้มีฉากสยองเลือดนองอย่างที่คิด เด็ก ๆ ดูได้สบาย ๆ ไร้พิษภัย

———————————————————————————————–

คอลัมน์ : ดูหนังกับหมี
โดย : แพนด้าอ้วน

ขอบคุณข้อมูล ภาพจาก Sony Pictures และ เว็บไซต์ยูทูบ