รายงานฉบับนี้เป็นการคาดการณ์ถึงสถานการณ์ในอนาคตที่ แรงงานอาจจะต้องเผชิญกับความท้าทายด้านต่าง ๆ ในอีก 9 ปีข้างหน้า หรือราว ๆ ปี 2573 เพื่อให้ภาคแรงงานนำข้อมูลนี้ไปใช้เพื่อวางแผนรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” … เป็นวัตถุประสงค์ที่เน้นย้ำไว้ในรายงานชื่อ “รายงานวิจัยการคาดการณ์อนาคตประเทศไทย ปี พ.ศ. 2573 (Futures and Beyond : Navigating Thailand toward 2030)” ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ จัดทำขึ้น ซึ่งถึงแม้ “โลกอนาคต” ยังมาไม่ถึง แต่ก็ “เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ”…

วันนี้ “มีการคาดการณ์ภาพเหตุการณ์อนาคต”

“เพื่อจะได้เตรียมความพร้อมรับมือ” สิ่งต่าง ๆ

และ “เพื่อปรับตัวได้ทันกับสถานการณ์” วันหน้า

ทั้งนี้ “อนาคตของสถานการณ์แรงงานไทย” ที่จะเกิดขึ้นในปี 2573 หรืออีกราว ๆ 9 ปีข้างหน้านับจากนี้ ได้ถูกสะท้อนไว้ผ่านทางรายงานฉบับนี้ โดยทางผู้จัดทำได้มีการคาดการณ์เอาไว้ว่า… ในอนาคตภาคแรงงานจะต้องเผชิญกับความท้าทายหลากหลายด้านเพิ่มขึ้น โดยผลสำรวจของ องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่ได้สำรวจแรงงานในประเทศไทยไว้ ก็ได้มีการคาดการณ์ไว้ว่า… ในอีก 20 ปีข้างหน้า “ตําแหน่งงาน” และ “การจ้างงานในไทย” ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 44 หรือ กว่า 17 ล้านตำแหน่ง นั้น มีความเสี่ยงที่จะถูกแทนที่โดยระบบอัตโนมัติ โดยที่ กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ…

แรงงานภาคบริการ เกษตร แรงงานทักษะต่ำ

โดยเฉพาะเมื่อ “งานถูกเทคโนโลยีเทคโอเวอร์!!”

กับ “กลุ่มแรงงานที่จะได้รับผลกระทบ” นั้น มีการขยายความเอาไว้ว่า… เมื่อแรงงานกลุ่มนี้ “ถูกเทคโอเวอร์งานด้วยเทคโนโลยี” ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบงานจากที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งคาดการณ์กันว่า… อาชีพหรืองานที่คนทำในปัจจุบันนี้ราวร้อยละ 50-70 อาจจะสูญหายไป!! อย่างไรก็ตาม แต่การเข้ามาแทนที่ของเทคโนโลยีนั้น เมื่อระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และมนุษย์ ได้มีการทำงานร่วมกัน ก็จะก่อให้เกิด “ข้อดี” เช่นกัน กล่าวคือ ทำให้ได้ผลลัพธ์การทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะสาขา อาชีพ ที่เน้นด้านความรู้เช่น การเงิน การแพทย์ และวิชาชีพทางด้านกฎหมาย…

เกี่ยวกับ สถานการณ์ในอนาคตที่จะเกิดขึ้นกับแรงงานไทย นั้น ในรายงานดังกล่าวยังได้คาดการณ์ไว้ว่า… อาจเป็นไปได้ที่จะ เกิดความต้องการทักษะที่หลากหลายมากขึ้นจากแรงงาน กล่าวคือ… เมื่อโลกเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง จึงส่งผลทำให้ความต้องการทักษะที่หลากหลายก็เปลี่ยนไปเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ ตลาดแรงงานในอนาคต ไว้อีกว่า… วุฒิการศึกษาจะมีความจำเป็นน้อยลงในการพิจารณารับคนเข้าทำงาน องค์กรต่าง ๆ จะมุ่งเน้นคัดเลือกคนเข้าทำงานจากทักษะและความสามารถที่มี และตรงกับความต้องการของงานในตำแหน่งนั้น ๆ มากกว่า และก็จะใช้วิธีการทดสอบระดับความสามารถของทักษะต่าง ๆ เพื่อใช้ในการคัดเลือกรับเข้าทำงานมากกว่าจะพิจารณาจากวุฒิการศึกษาเป็นหลัก

นี่เป็น “ภาพในอนาคตของตลาดแรงงาน”

ขณะที่การทำงานออนไลน์นั้น ในรายงานระบุไว้ว่า… จะยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง จากการที่เทคโนโลยีการสื่อสารก้าวหน้า ทำให้หลาย ๆ อาชีพสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ จนรูปแบบการทำงานในอนาคตนั้นจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น นอกจากนี้ โลกยังจะให้ความสำคัญกับชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น เพื่อให้พนักงานสามารถเริ่มต้นและสิ้นสุดวันทำงานได้เมื่อต้องการ ซึ่งข้อดีของความเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่เพียงจะช่วยทำให้พนักงานสามารถจัดตารางการทำงานในช่วงเวลาที่เหมาะกับตนเองเพื่อทำงานให้สำเร็จมากขึ้น แต่นายจ้างก็สามารถเลือกรับพนักงานได้หลากหลายมากขึ้นเช่นกัน

สำหรับด้านคุณค่าของงานกับแรงงานรุ่นใหม่นั้น ก็มีการฉายภาพไว้ว่า… ภาพสถานการณ์ของแรงงานในปี 2573 นั้น เป็นไปได้ว่า… แรงงานรุ่นใหม่จะให้ความสำคัญกับการเกษียณตั้งแต่อายุยังน้อย และแทนที่จะเลือกประกอบอาชีพให้ประสบความสำเร็จ แต่แรงงานรุ่นใหม่ ๆ จะพยายามสะสมเงินออมให้เพียงพอ เพื่อให้มีอิสระทางการเงินไปตลอดชีวิต ดังนั้น เป้าหมายการทำงานเพื่อสร้างรายได้สร้างความมั่งคั่ง อาจไม่ใช่ปัจจัยหลักของคนรุ่นใหม่ ๆ ในอนาคตอีกต่อไป แต่จะ “ให้ความสำคัญ” กับ “คุณค่าของเวลาว่าง (Valuing Free Time)” มากกว่าการเติบโตในสายอาชีพหรือฐานเงินเดือน

ทั้งนี้ ในอนาคตยังอาจ เกิดการทำงานแบบ “กิ๊กอีโคโนมี” เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไป จนทำให้องค์กรส่วนใหญ่จำเป็นต้องมีนโยบายฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็นให้กับพนักงาน เพื่อนำไปใช้ต่อยอดในงาน และที่คาดว่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นตามมาด้วยก็คือ มีการเข้ามาของ “ระบบเศรษฐกิจแบบงานชั่วคราวและงานพาร์ทไทม์ เนื่องจากนายจ้างจะมีเป้าหมายที่จะลดจำนวนสัญญาแบบถาวรให้เหลือน้อยที่สุด ในขณะที่พนักงานก็เต็มใจที่จะพิจารณาสัญญาจ้างงานที่มีความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น …นี่ก็เป็นอีก “ฉากทัศน์ในอนาคต ซึ่งทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ขอร่วมเน้นย้ำไว้…

ภาพอนาคต” กับ “ความท้าทายกรณีแรงงาน” นั้น…

แม้มิใช่ภาพในวันนี้แต่ก็ “ต้องเตรียมปรับตัวรับมือ”

โลกยุคนี้ “โควิดเป็นตัวเร่งให้เกิดวิถีใหม่ ๆ เร็วขึ้น”

ที่ว่าอีก 9 ปี “ความท้าทายอาจมาเร็วเกินคาด??” .