กำลังเร่งเวนคืนที่ดินเพื่อส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้ผู้รับเหมา สำหรับ โครงการรถไฟทางไฟทางคู่ 2สายใหม่ มูลค่า 1.39 แสนล้าน สายเหนือเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 7.29 หมื่นล้านบาท และสายอีสานบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงิน 6.68 หมื่นล้านบาท

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เริ่มเข้าสำรวจอสังหาริมทรัพย์ ปักหมุดศูนย์กลาง ปักหลักเขตเวนคืน (หลักขาวแดง) สำรวจแปลงที่ดิน สำรวจอาคารสิ่งปลูกสร้าง และสำรวจพืชผลต้นไม้ เพื่อประเมินราคา คาดว่าจะเวนคืนแปลงแรกของสายเหนือได้ประมาณเดือน พ.ค.65 ส่วนสายอีสานประมาณเดือน ต.ค.65 ที่เหลือจะทยอยดำเนินการเวนคืนคู่ขนานไปกับการก่อสร้าง เบื้องต้นในส่วนของสายเหนือ พื้นที่แปลงแรกที่ส่งมอบจะเป็นบริเวณสถานีเชียงราย ส่วนสายอีสาน จะเป็นพื้นที่เชื่อมต่อบริเวณ จ.ร้อยเอ็ด และ จ.นครพนม โดยเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ เพื่อใช้สร้างออฟฟิศสนามเป็นศูนย์ปฏิบัติการ และเก็บวัสดุก่อสร้างต่างๆ

ขณะนี้งานเวนคืนยังไม่พบปัญหาใดๆ ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากชาวบ้าน รฟท. ได้วางแผนและของบประมาณสำหรับค่าทดแทนการเวนคืนไว้แล้ว มีคณะกรรมการกำหนดราคาเป็นผู้พิจารณา แต่เนื่องจากโครงการศึกษามานานแล้ว ขณะเดียวกันมีกฎกระทรวงเกี่ยวกับการเวนคืนที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อปี 64ต้องประเมินราคาใหม่ รฟท.จะพยายามควบคุมให้อยู่ภายในงบประมาณที่ได้รับ

โครงการฯสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มีพื้นที่ใน จ.แพร่, ลำปาง, พะเยา และเชียงราย ที่จะถูกเวนคืน รวม 8,665 แปลง ประมาณ 12,076 ไร่ แบ่งเป็นที่ดินมีเอกสารสิทธิ 7,704 แปลง ที่ดิน ส.ป.ก. 783 แปลง พื้นที่ป่า 13 แปลง อื่นๆ 465 แปลง และสิ่งปลูกสร้าง 5,053 รายการ จะใช้งบฯ เวนคืนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

ส่วน สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม มีพื้นที่ใน จ.ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร และนครพนม ที่จะถูกเวนคืน รวม 9,012 แปลง 18,462 ไร่ สิ่งปลูกสร้าง 2,368 หลัง และไม้ยืนต้น 6,711 แปลง ใช้งบฯ เวนคืนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

ในการเข้าสำรวจอสังหาริมทรัพย์นั้น เจ้าหน้าที่จะโทรศัพท์ติดต่อเพื่อนัดหมายล่วงหน้าก่อน โดยทุกขั้นตอนในการเข้าดำเนินงาน ประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น หากมีบุคคลใดแอบอ้าง และเรียกเก็บเงินกับประชาชน โดยอ้างว่าสามารถช่วยเหลือให้ได้ค่าทดแทนได้มากขึ้น หรือได้ค่าทดแทนรวดเร็วขึ้น ซึ่งเป็นการหาผลประโยชน์จากผู้ถูกเวนคืน ขอให้ประชาชนที่พบเห็นแจ้งโครงการฯ โดยทันที เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับบุคคลเหล่านั้นทุกรายต่อไป

ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ย่อมมีข้อกังวลว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งที่ต้องเสียสละที่ดิน ต้องย้ายออกจากบ้านที่อยู่อาศัย ไปตั้งรกรากใหม่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม….รฟท.ยืนยันว่าจะมุ่งมั่นทำให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมจากการเวนคืนให้ได้มากที่สุด โดยทุกอย่างจะเป็นไปตาม พ...ว่าด้วยการเวนคืนและได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ..2562 ทุกประการ

สายบ้านไผ่มหาสารคามร้อยเอ็ดมุกดาหารนครพนม แบ่งก่อสร้าง 2 สัญญา สัญญาที่ 1 ช่วงบ้านไผ่-หนองพอก ระยะทาง 180 กม. กิจการร่วมค้า เอเอส-ช.ทวี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ ประกอบด้วย บริษัท เอ.เอส. แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด บริษัท ช.ทวีก่อสร้าง จำกัด บริษัท กิจการร่วมค้า ทีบีทีซี จำกัด บริษัท เสริมสงวนก่อสร้าง จำกัด และบริษัท เค.เอส.ร่วมค้า จำกัด เป็นผู้รับจ้างฯ

สัญญาที่ 2 ช่วงหนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 ระยะทาง 175 กม. กิจการร่วมค้า ยูนิค ประกอบด้วย บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท พี.ซีอีที จำกัด บริษัท ไทยพีค่อนและอุตสาหกรรม จำกัด และบริษัท วัชรขจร จำกัด เป็นผู้รับจ้างฯ จะใช้เวลาก่อสร้าง 4ปี เปิดบริการปี 69

ส่วนสายเด่นชัยเชียงรายเชียงของ แบ่งก่อสร้าง 3 สัญญา สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 104 กม. กลุ่มกิจการร่วมค้า ไอทีดี-เนาวรัตน์ ประกอบด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้างฯ สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง 135 กม. กิจการร่วมค้า ซีเคเอสที-ดีซี2 ประกอบด้วย บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท บุรีรัมย์พนาสิทธิ์ จำกัด เป็นผู้รับจ้างฯ

และสัญญาที่ 3 ช่วง ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 84 กม. กิจการร่วมค้า ซีเคเอสที-ดีซี3 ประกอบด้วย บริษัท ช.การช่างฯ บริษัท ซิโน-ไทยฯ และบริษัท เชียงใหม่คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้รับจ้างฯ ใช้เวลาก่อสร้าง 6 ปี เปิดบริการปี 71

ใช้เวลาถึง 62 ปีผ่านปัญหาอุปสรรคกว่าจะมาถึงวันนี้ หากนับจากที่ รฟท.เริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2503 โดยเริ่มศึกษาเมื่อปี 2532 หรือ 33 ปีก่อน ล่าสุดมีปัญหาเรื่องร้องเรียนในการประกวดราคา (ประมูล) กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ลับ ที่ 147/2564 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการประกวดราคาก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560

เมื่อคณะกรรมการมีความเห็นว่า การประมูลทั้งหมดถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่พบพฤติกรรมสมยอมในการร่วมประกวดราคาของเอกชนที่เข้าร่วมประมูล และหากเปิดประมูลใหม่จะทำให้ราคากลางของโครงการสูงขึ้น ในช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ จะเพิ่มขึ้น 4,600 ล้านบาท ส่วนบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม เพิ่มขึ้น 2,900 ล้านบาท

เมื่อเคลียร์ทุกอย่างจบตามขั้นตอน รฟท. จึงลงนามสัญญากับผู้รับจ้างเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.64

สถานะโครงการถึงอีกจุดสำคัญ และเป็นจุดอ่อนของการรถไฟฯ เรื่องการเวนคืนส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง ถ้าทำได้ตามแผนงานเพื่อเปิดบริการในปี 69/71 ประชาชนจะสิ้นสุดการรอคอยรถไฟ 2 สายใหม่อันยาวนานถึง 66 ปี

————————————
คอลัมน์ มุมคนเมือง
โดย ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง