ออกจากประเด็นปัญหาของ “ผู้สูงอายุเต็มขั้น” ที่ประเทศไทยต้องพยายามปลดล็อกให้ได้แล้ว อีกประเด็นที่ก็ต้องติดตามกันใกล้ชิดคือ “ว่าที่ผู้สูงวัย” ที่เป็น “กลุ่มคนรุ่นใหม่ในวันนี้” ที่จะต้องเป็น “ผู้สูงอายุในวันหน้า” โดยสิ่งที่จำเป็นจะต้อง “สนใจ-ใส่ใจ” นั่นก็คือ “มุมมอง-ทัศนคติ” ของ “ว่าที่ผู้สูงอายุ” กลุ่มนี้ โดยเฉพาะ ความต้องการพื้นฐาน”…

เพื่อที่จะได้ “เข้าใจ” รวมถึง “มีข้อมูลที่เพียงพอ” 

ในการนำไปใช้ “เพื่อวางแผนรองรับสถานการณ์”

ให้กับ “กลุ่มผู้สูงวัยรุ่นใหม่” ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

กับประเด็น “ว่าที่ผู้สูงอายุ” นั้น ประเด็นนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ขอสะท้อนต่อข้อมูลน่าสนใจจากบทความ “ความคาดหวังของคนรุ่นใหม่ เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ” โดย จงจิตต์ ฤทธิรงค์ ที่ได้รับการเผยแพร่อยู่ใน www.theprachakorn.com โดยเป็นการถอดบทเรียนจากผลศึกษาวิจัย “โครงการความคาดหวัง การวางแผน และการเตรียมตัวของประชากรวัยทำงานต่างรุ่นอายุและรูปแบบการอยู่อาศัย ต่อชีวิตในวัยสูงอายุ” ของ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้มีการสำรวจความคิด ทัศนคติ และความคาดหวัง ของประชากรรุ่นใหม่ เมื่อคนกลุ่มนี้จะต้องเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ…

เพื่อ “สะท้อนทัศนคติคนรุ่นใหม่” ที่มีต่อสถานการณ์นี้

ทั้งนี้ ในบทความดังกล่าวนี้ทางผู้เขียนได้สะท้อนไว้ว่า… โครงการนี้เกิดจากความสงสัยว่า… ประชากรแต่ละรุ่นแต่ละช่วงอายุ มีภาพจินตนาการหรือความคาดหวังอย่างไร? เมื่อต้องกลายเป็นผู้สูงอายุในอนาคตแทนที่ผู้สูงอายุกลุ่มเก่า โดยในการทำวิจัยนั้น ทางคณะผู้วิจัยเรื่องนี้ได้ทำการสอบถามกลุ่มตัวอย่างที่เป็นกลุ่มคนที่อายุช่วง 18-59 ปี ผ่านแบบสอบถามออนไลน์ เมื่อช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมา รวมทั้งยังได้จัดให้มีการอภิปรายกลุ่มผ่านโปรแกรม Zoom ซึ่งเป็นแบบออนไลน์ด้วย โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดประมาณ 1,734 คน ที่ส่วนมากก็จะเป็น… “กลุ่มคนรุ่นใหม่”…

เป็นคน “เจนเนอเรชั่น Y” และ “เจนเนอเรชั่น Z”

สำหรับผลสำรวจ พบว่า… 72% ของผู้ตอบแบบสอบถามทราบว่าไทยได้กลายเป็น “สังคมสูงวัย” แล้ว และ 1 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสอบถาม มองว่า… เกณฑ์อายุที่ใช้ควรปรับเปลี่ยนใหม่ โดยเห็นว่า… “เกณฑ์ผู้สูงอายุ” ควรจะเริ่มต้นที่อายุมากกว่า
60
ปี” เนื่องจากผู้สูงอายุสมัยนี้สุขภาพแข็งแรง และสามารถทำงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ ได้หลากหลาย

นี่เป็น “มุมมองคนรุ่นใหม่ที่มีต่อการเป็นผู้สูงอายุ”

ที่เห็นว่า…“ควรขยับเกณฑ์ระดับอายุผู้สูงอายุใหม่”

นอกจากนั้น “ภาพฝัน” ที่คนรุ่นใหม่มีต่อการเข้าสู่วัยผู้สูงอายุนั้น พบว่า… คนรุ่นใหม่มองว่า… การเกษียณไม่ได้เป็นการหยุดทำงาน แต่เป็นการเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตจากการทำงานประจำมากกว่า ซึ่งสิ่งที่คนรุ่นใหม่ “คาดหวัง” ไว้ก็คือ “การเป็นผู้สูงอายุที่ไม่ต้องวิตกกังวลด้านการเงินหรือรายได้” อีกต่อไป โดยพบข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นคนในเจนเนอเรชั่น Z ว่า… มีแนวคิดที่จะวางแผนออมเงินและการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนเร็ว เนื่องจากกลุ่มตัวอย่าง วางแผนที่จะเกษียณตั้งแต่อายุ 35 ปี ซึ่งหลายคนเชื่อว่า…มีความเป็นไปได้ หากวางแผนการลงทุนให้ดีพอ

“เกษียณตัวเองตั้งแต่อายุยังไม่มาก” คือความตั้งใจ      

คือ “ภาพฝันของกลุ่มคนไทยรุ่นใหม่” ที่ “น่าคิด??”

ขณะที่หัวข้อ “ความกังวลใจ” เมื่อ “คนรุ่นใหม่กลายเป็นผู้สูงอายุ” นั้น กับหัวข้อดังกล่าวนี้ก็มีเรื่องการเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งจากแบบสำรวจที่ผู้ตอบแบบสอบถามระบุนั้น พบว่า… ผู้ตอบแบบสอบถาม 22% ตั้งใจจะอยู่คนเดียวเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ และอีก 61% วางแผนที่จะไปอยู่สถานดูแลผู้สูงอายุระยะยาว โดยที่ มีเงื่อนไขเดียวที่ต้องทำให้สำเร็จ นั่นก็คือ การเก็บเงินให้มากพอที่จะจ่ายค่าบริการจนวาระท้ายของชีวิต ซึ่งด้วยเหตุนี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้…

กลุ่มคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ “ตัดสินใจที่จะไม่มีลูก”

แถม “เลือกที่จะครองโสด-ไม่แต่งงาน” อีกด้วย!!

ทั้งนี้ ข้อมูลจากบทความโดย จงจิตต์ ฤทธิรงค์ จากโครงการศึกษาวิจัย “ว่าที่ผู้สูงอายุ” ยังมีส่วนที่ระบุไว้ว่า… คนรุ่นใหม่ที่ตอบแบบสอบถามถึง 77% ไม่ต้องการยื้อชีวิตตนเอง หากอยู่ในภาวะโคม่า โดยหลายคนมองว่า… น่าจะยุติชีวิตตนเองได้ก่อนที่จะถึงวันที่ไม่สามารถดูแลตนเอง และทุกรุ่นอายุ ต้องการวางแผนการรักษาหรือยุติการรักษาเอาไว้ล่วงหน้า เนื่องจากส่วนใหญ่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์คนรอบข้างที่ต้องนอนติดเตียง จึงไม่ต้องการเป็นภาระให้ผู้อื่นจากการที่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น ในขณะที่ “ภาพอนาคตของคนรุ่นใหม่” เมื่อถึงเวลาที่ “กลายเป็นผู้สูงอายุ” นั้น คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่สะท้อนตรงกันว่า… ต้องการเป็นผู้สูงอายุที่พึ่งพาตนเองได้ มากกว่าพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐ

ทัศนคติท้ายสุดนี่ก็ดูจะสะท้อนความ “ไม่เชื่อมั่นรัฐ??”     

ทุก ๆ ส่วน-ทุก ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง “น่าพินิจพิจารณา”

“ผู้สูงวัยในวันนี้” นั้น…มีจำนวนมากที่มีปัญหา!!”

“จะซ้ำรอยแค่ไหน??…กับผู้สูงวัยในวันหน้า…” .