ไม่มีใครรู้ว่า สงครามไฟระหว่าง “ยูเครน-รัสเซีย” จะบานปลายไปถึงเมื่อไหร่? และสุดท้ายแล้ว!! บทสรุปที่ออกมาจะเป็นอย่างไร? เพราะต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของทั้ง 2 ประเทศ ที่เป็นต้นตอของวิกฤติในครั้งนี้

ด้วยผลพวงของปัญหาที่เกิดขึ้น แรงกระแทกย่อมต้องส่งมาถึงไทย ด้วยเช่นกัน แม้การค้าระหว่างไทยกับยูเครน และการค้าระหว่างไทยกับรัสเซีย จะไม่ได้มากมายอะไรนัก

แต่ถ้าวิกฤติครั้งนี้ขยายวงกว้างไปจนถึง กลุ่มประเทศยุโรป นั่น!! ย่อมส่งผลกระทบกับไทยแน่นอน เพราะตลาดยุโรป ถือเป็นตลาดใหญ่เช่นกัน…ที่ ไทยส่งออกสินค้ารวมกันแล้วมากถึง 10%

นั่น…หมายถึงรายได้จากการส่งออกที่ควรเข้ามาเป็นกอบเป็นกำ อาจลดน้อยถอยลงไปกว่าที่คาดหมายไว้ก็เป็นไปได้!!

กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า การค้าไทย-รัสเซีย ในปี 64 มีมูลค่า 2,780 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยก็ตกประมาณ กว่า 90,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 12.84%

ไทยส่งออกสินค้าไปยังรัสเซียประมาณ 1,028 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 33,379.16 ล้านบาท และนำเข้าจากรัสเซีย มูลค่า 1,752 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 56,850.65 ล้านบาท

สินค้าส่งออกที่สำคัญ ก็มีทั้ง รถยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล อากาศยาน ยานอวกาศ และผลไม้กระป๋อง อาหารทะเลกระป๋อง ขณะที่สินค้าที่ไทยนำเข้าจากรัสเซีย คือ น้ำมันดิบ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สินแร่ เครื่องบิน

ส่วนการค้า ไทย-ยูเครน ในปี 64 มีมูลค่า 386 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 12,525.31 ล้านบาท ขยายตัว 25.56% โดยไทยส่งออกไปยังยูเครน 134.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 4,373.91 ล้านบาท และนำเข้าจากยูเครน 251 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8,146.71 ล้านบาท

สินค้าส่งออกสำคัญไปยูเครน มีทั้ง รถยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋อง เม็ดพลาสติก ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากยูเครน เป็นพืช เหล็ก ไม้ซุง ไม้แปรรูป แร่ สินแร่ เป็นต้น

แม้เวลานี้…เรื่องของการค้าการลงทุน อาจยังไม่ส่งผลยังไม่มีแรงกระเพื่อมมาถึงไทยโดยตรงมากนัก  แต่ในแง่ของราคาน้ำมัน กลับกระทบชิ่งมาถึงไทยทันที

ล่าสุด!!เมื่อวันที่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา ผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ ทั้ง “พีทีที สเตชั่น” ทั้ง “บางจาก คอร์ปอเรชั่น” ได้ขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ทุกชนิดขึ้นอีกลิตรละ 40 สต. ขณะที่กลุ่มดีเซลทุกชนิด ปรับขึ้นอีกลิตรละ 60 สตางค์

ทั้งที่ก่อนหน้านี้เพียง 2 วัน คือ วันที่ 24 ก.พ.65 ได้ปรับขึ้นราคาขายปลีกกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ มาแล้วลิตรละ 40 สต. ส่วนกลุ่มดีเซล ปรับขึ้นลิตรละ 60 สตางค์ ซึ่งการปรับขึ้นราคาน้ำมันครั้งนี้ ก็ทำให้ราคาดีเซล ทะลุ ลิตรละ 29.14 บาท ไปแล้ว

“สนั่น อังอุบลกุล” ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้แง่คิดที่น่าสนใจว่า หากราคาน้ำมันโลกปรับขึ้น 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จะกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันในไทย ลิตรละ 20 สตางค์

ถ้าราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับขึ้นสูงถึง 120 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อบาร์เรล ตามที่มีการคาดการณ์กัน นั่นหมายความว่า...จะกระทบกับราคาขายปลีกน้ำมันในบ้านเรามากถึงลิตรละ 6 บาท

อย่าลืมว่าก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ตัดสินใจลดภาษีสรรพสามิต ดีเซลลิตรละ 3 บาท โดยแบ่งมาบรรเทาภาระค่าน้ำมันให้กับประชาชนลิตรละ 2 บาท และโยกไปโปะให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่กำลังบักโกรกอย่างหนัก อีกลิตรละ 1 บาท โดยล่าสุดติดลบไปแล้ว 20,164 ล้านบาท

อย่างที่บอก!! ดูแค่ราคาน้ำมันที่ทะยานขึ้นอย่างหนัก จากสงครามหมีขาว-ยูเครน ที่เกิดขึ้น แม้ไทยจะนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซีย เพียงวันละ 5.22 ล้านลิตร หรือคิดเป็น 3% ของปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบทั้งหมด ก็ตาม

แต่ผลพวงที่เกิดขึ้น ก็ทำให้ราคาน้ำมันแพงขึ้น นั่นหมายความว่า ราคานี้จะส่งต่อไปยังสินค้า บริการ ต่าง ๆ รวมไปถึงอัตราเงินเฟ้อ ที่เพิ่มสูงขึ้น

หันมาดูกระสุนที่มีอยู่ ทั้งเงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ที่เหลือวงเงินเพียง 9.7 แสนล้านบาท เงินลงทุนภาครัฐประมาณ 7 แสนล้านบาท เงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจ อีก 2-3 แสนล้านบาท

นี่!! ยังไม่นับรวมการแพร่ระบาดของไวรัสร้าย “โอมิครอน” ที่กำลังออกอาละวาดอย่างหนัก ในเวลานี้ ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขที่เกิดขึ้น และอีกสารพัดที่ตามมา

สุดท้าย!! กระสุนที่มีอยู่จะเพียงพอแค่ไหน? ขณะที่ “ทีมเศรษฐกิจ” ของรัฐบาลที่จะออกหน้ามา…เพิ่มความมั่นใจ… กลับมองไม่เห็น!!

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”