“ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”…ดูจะกลายเป็น “วลีฮิต” ติดปากคนไทยในช่วงนี้เข้าให้อีก หลังจากประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ต่างรอคอยมาตรการเยียวยาจากรัฐบาล จากผลพวงของไฟสงครามหมีขาวและยูเครน

แต่สุดท้าย!! มาตรการที่รัฐบาลประกาศออกมา มีเพียงแค่…การช่วยกันประหยัดพลังงาน!! การรู้จักพึ่งตัวเอง!! ตามพุทธสุภาษิต ที่แปลความออกมาแล้วคือ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน!!

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ “สร้างภาพ” ตั้งความหวังให้สังคม ตั้งหน้ารอมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล

ขณะที่มาตรการหรือแนวทางที่ออกมา…กลับไม่ได้สร้าง “ความโล่งใจ” ใด ๆ ได้แค่เพียงนั่ง “ภาวนา” กันไป อย่าให้สงครามไฟครั้งนี้ลุกลามบานปลายใหญ่โต หรือยืดเยื้อมากไปกว่านี้อีก

การประกาศตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ลิตรละ 30 บาทต่อไปจนกว่าจะไม่ไหว!! ในทางหนึ่งอาจทำให้รู้สึกว่า รัฐบาลไม่ได้ทอดทิ้งคนไทย แต่ในขณะเดียวกัน ความรู้สึกอีกทางก็เกิดขึ้นว่าจะทนได้อีกกี่เดือน

เพราะเวลานี้…กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่เป็นกลไกหลักในการกำกับดูแลราคาน้ำมัน กำลังบักโกรกเต็มที่ จากการเข้าไปอุดหนุนหรือชดเชยราคาน้ำมันดีเซล ที่เวลานี้ก็ควักเนื้อไปให้แล้วลิตรละ 14 บาท

ส่วนฐานะของกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุดติดลบไปแล้วกว่า 23,000 ล้านบาท แม้ว่าก่อนหน้านี้ ครม.ได้เห็นชอบให้ขยายกรอบวงเงินกู้ออกไป จากที่วางไว้ 40,000 ล้านบาท เพื่อทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น

ถามว่า? ในเวลาเช่นนี้ แบงก์ไหน สถาบันการเงินไหน ใครจะให้กองทุนน้ำมันฯ กู้เงินได้แบบตามใจชอบ!! หากราคาน้ำมันดิบยังทะยานขึ้นไปต่อเนื่อง

ในเมื่อ… ความสามารถในการชำระหนี้มีอยู่อย่างจำกัด แล้วแบงก์ใด สถาบันการเงินแห่งใด จะเต็มใจเข้ามารับหน้าที่ดูแล!! เรื่องนี้ “กุลิศ สมบัติศิริ” ปลัดกระทรวงพลังงาน ก็บอกไว้เอง นั่นหมายความว่า…การขยายกรอบเพดานกู้เงินของกองทุนน้ำมันฯ ไม่ได้หมายความว่าจะกู้เงินเกินกรอบที่กำหนดไว้ที่ 40,000 ล้านบาท

เช่นเดียวกับเรื่องของค่าไฟฟ้า แม้ครม.ได้เห็นชอบให้เฉือนเนื้อรายได้ไป 7,000 ล้านบาท เพื่อยกเว้นภาษีสรรพสามิตให้กับน้ำมันดีเซล ที่นำไปผลิตไฟฟ้า พร้อมปรับสูตรราคาเชื้อเพลิง จะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าลดลงได้ประมาณหน่วยละ 6 สตางค์

แต่จนแล้วจนรอด…ก็เป็นไปไม่ได้ที่รัฐจะแบกรับภาระค่าไฟฟ้าเอาไว้อีก ดังนั้นในรอบเดือน พ.ค.-ส.ค. ที่จะถึงนี้ ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟทีก็ต้องหนีไม่พ้นปรับขึ้นอีกหน่วยละ 16.71 สตางค์ แม้การปรับขึ้นจริงต้องอยู่ที่ 1.20-1.30 บาทต่อหน่วยก็ตาม

หรือแม้แต่เรื่องของค่าก๊าซหุงต้ม หรือแอลพีจี เช่นกัน ที่ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.นี้ เป็นต้นไป ก็ต้องปรับขึ้นอีกกิโลกรัมละ 1 บาท คือจากถัง 15 กิโลกรัม ที่เวลานี้อยู่ที่ถังละ 318 บาท ก็จะปรับขึ้นเป็น 333 บาท

คำถามที่คาใจคนไทยทั้งประเทศ แล้วจริง ๆ แล้วรัฐบาลจะช่วยอะไร? คำตอบ… เรื่องของค่าไฟฟ้า ถ้าบ้านไหนใช้ไม่เกินเดือนละ 300 หน่วย หรือคิดเป็นไม่เกินเดือนละ 1,200 บาท ก็น่าจะอยู่ราคาเดิมต่อไปได้

ขณะที่ค่าก๊าซหุงต้ม รัฐก็อาจนำเงินไปช่วยผ่านบัตรคนจน ที่เคยให้อยู่ 45 บาทต่อ 3 เดือน ก็อาจจะเพิ่มเป็น 100 บาทต่อ 3 เดือน เพื่อให้ผู้ที่มีรายได้น้อยเดือดร้อนน้อยที่สุด

ส่วนเรื่องของน้ำมันเบนซิน ที่เป็นเรื่องของคนมีสตางค์ ก็อาจจำกัดวงการช่วยเหลือ มาอยู่แค่บรรดาผู้ใช้รถมอเตอร์ไซด์ ผ่านบัตรคนจนเช่นกัน โดยจำกัดวงอยู่ที่เดือนละ 50 ลิตร

แต่ปัญหา? คือจะหาเงินจากที่ไหน? นักหนามาบรรเทาภาระความเดือดร้อนของพี่น้องคนไทยในครั้งนี้ “บิ๊กตู่” เองก็ยอมรับว่า เงินที่จะใช้น่ะ มีอยู่อย่างจำกัด และที่ผ่านมาก็ได้ใช้ไปกับเรื่องของการดูแลสุขภาพอย่างมาก

ขณะเดียวกันมีหลายสำนักวิจัยคาดการณ์กันไว้ว่า หากสถานการณ์ยืดเยื้อไปตลอดทั้งปี ความเสียหายต่อเศรษฐกิจจะมีมากกว่า 2.44 แสนล้านบาททีเดียว หากจบได้ในช่วงครึ่งปี ก็เสียหายประมาณ 1.46 แสนล้านบาท หากจบภายใน 3 เดือน ความเสียหายจะมีกว่า 7.34 หมื่นล้านบาท

ทั้งหลายทั้งปวง…จึงขึ้นอยู่กับความสามารถของรัฐบาล ว่าจะบริหารจัดการหาทางออกให้คนไทยทั้งประเทศ “โล่งอก” ได้อย่างไร?

อย่าลืมว่า ณ เวลานี้ สารพัดสารพันปัญหา กำลังถาโถมเข้าสู่ผู้บริหารประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหา “ปากท้อง” ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ถ้าแก้ได้ หาทางบรรเทาเบาบางได้ เชื่อเถอะ!! ใคร ๆ ก็ไม่ลืมแถมยังทำให้เก้าอี้รัฐบาลแน่นเปรี๊ยะอีกต่างหาก…

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”