นอกจากวันสำคัญ ๆ ที่ยึดถือกันเป็นสากลแล้ว…เมืองไทย-คนไทยเรายังโชคดียิ่งที่มีวันสำคัญ ๆ ต่าง ๆ เพิ่มเติมอีกมากสำหรับใช้ยึดถือเป็นฤกษ์งามยามดีทำเรื่องดี ๆ สิ่งดี ๆ ซึ่งกับเรื่อง “การออม” นี่ก็นับเป็นหนึ่งในเรื่องดี-สิ่งดีที่ควรจะทำให้กับชีวิตตนเองและครอบครัว อย่างไรก็ดี วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็มีข้อมูลในเรื่องนี้มาสะท้อนให้ได้ลองพิจารณากัน…

“ต้องการทราบถึง ทัศนคติคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับการออมและการลงทุน เพื่อสะท้อนความคาดหวัง และการวางแผนชีวิตของคนรุ่นใหม่ เมื่อต้องเตรียมตัวเป็นผู้สูงอายุในอนาคต ซึ่งผลการศึกษาพบว่า…คนรุ่นใหม่มีทัศนคติด้านการออมเปลี่ยนไป…” …นี่เป็นบางช่วงบางตอนจากที่มีการระบุไว้ในบทความ “การออมการลงทุนของคนรุ่นใหม่” โดย ณัฐณิชา ลอยฟ้า ที่เผยแพร่อยู่ใน www.theprachakorn.com ซึ่งฉายภาพ “ทัศนคติของคนรุ่นใหม่” ที่มีต่อ “การออม-การลงทุน”…

สะท้อนให้เห็นถึง “ปรากฏการณ์คนรุ่นใหม่”…

ที่ “มีทัศนคติเปลี่ยนไปจากคนเจเนอเรชั่นก่อน”

อนึ่ง ในบทความดังกล่าวนี้ทางผู้เขียนได้หยิบยกผลการศึกษาของ โครงการ “ความคาดหวัง การวางแผน และการเตรียมตัวของประชากรวัยทำงานต่างรุ่นอายุ และรูปแบบการอยู่อาศัยต่อชีวิตในวัยสูงอายุ” มาฉายภาพเรื่องนี้ โดยพบว่า… กลุ่มเจเนอเรชั่น Z และกลุ่มเจเนอเรชั่น Y สนใจการออมที่เป็นการลงทุนมากกว่ากลุ่มเจเนอเรชั่น X โดยเฉพาะการลงทุนไปกับ… สังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ ตลาดหุ้น การทำธุรกิจ และบิตคอยน์ โดยที่… คนรุ่นใหม่เลือกออมด้วยวิธีลงทุนในทรัพย์สินต่าง ๆ แทนที่จะใช้วิธีออมเงินแบบเดิมเหมือนที่คนรุ่นก่อน ๆ นิยมใช้กัน

ทั้งนี้ กับ “ทัศนคติการออมที่เปลี่ยนไป” นั้น กับเรื่องนี้ทาง ศ.วิทวัส รุ่งเรืองผล อาจารย์ประจำสาขาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สะท้อนกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาว่า… การที่คนรุ่นใหม่ไม่เลือกแบบคนรุ่นเก่า ก็ไม่ได้หมายถึงคนรุ่นใหม่ไม่สนใจการออม เพียงแต่ “มีมุมมองเปลี่ยนไป” เรื่องการออม ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่สนใจการออมด้วยวิธีแบบคนรุ่นเก่า อย่างเช่นการ ฝากเงินในธนาคารไว้เพื่อกินดอกเบี้ย ที่เป็นทั้งการออมและการลงทุนที่คนรุ่นเก่านิยมเลือกมากกว่าแบบอื่น ซึ่ง
สวนทางกับทัศนคติของคนรุ่นใหม่ ที่ไม่ค่อยสนใจเลือกวิธีออม-วิธีลงทุนรูปแบบนี้

สำหรับ “สาเหตุ-ปัจจัย” ที่ทำให้ “คนรุ่นใหม่ไม่สนใจวิธีออมเงินแบบเก่า” นั้น ทาง ศ.วิทวัส ได้วิเคราะห์และสะท้อนว่า…เพราะวิธีลงทุนแบบเก่าผ่านการออมเงินฝากในปัจจุบันได้ผลตอบแทนน้อย อีกทั้งไม่ตอบสนองความคาดหวังในชีวิตของคนรุ่นใหม่ จึงทำให้คนรุ่นใหม่สนใจการลงทุนรูปแบบใหม่ ๆ ถึงแม้จะตระหนักดีว่า… ผลตอบแทนที่มากขึ้นย่อมตามมาด้วยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ก็ตาม ซึ่งก็สะท้อนถึงความ “กล้าเสี่ยง!!” ที่คนรุ่นใหม่มีมากกว่าคนรุ่นก่อน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด!! เพราะพฤติกรรมกับมุมมองที่เกิดขึ้นนั้นย่อมจะแตกต่างไปตามสภาพสังคมที่คนแต่ละรุ่นได้เติบโตมา

“คนรุ่นเบบี้บูมหรือเจน X จะโตมาช่วงที่เศรษฐกิจไทยโตแบบก้าวกระโดด ตอนนั้นดอกเบี้ยเงินฝากยังมีอัตราที่สูงกว่า 10% ทำให้คนรุ่นก่อนนิยมฝากเงินเพื่อกินดอกเบี้ย ซึ่งไม่เหมือนกับปัจจุบัน ที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำเรี่ยดิน โดยต่อให้เป็นการฝากเงินแบบฝากประจำ ดอกเบี้ยก็จะได้แค่ 1.25-1.5% เท่านั้น ด้วยเหตุนี้วิธีออมด้วยการฝากเงินจึงไม่ตอบโจทย์กับชีวิตของคนรุ่นใหม่” …เป็นการฉายภาพถึงเรื่องนี้จากทางนักวิชาการท่านนี้

และเมื่อ “ผลตอบแทนไม่ตอบโจทย์” ด้วยเหตุนี้ “วิธีออมแบบคนรุ่นเก่า” จึงไม่ดึงดูดใจคนรุ่นใหม่ ทำให้คนในเจเนอเรชั่น Y และ Z เลือกที่จะมองหา “รูปแบบใหม่” ที่จะลงทุนและออม เช่น ลงทุนในสังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ ทำธุรกิจส่วนตัว ลงทุนในตลาดหุ้น หรือแม้แต่บิตคอยน์ ซึ่งถึงแม้จะรู้ว่า “ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามผลตอบแทนที่มากกว่า” แต่ก็ “กล้าที่จะเสี่ยงลงทุน” ซึ่ง ศ.วิทวัส ชี้ว่า… สาเหตุที่ทำให้คนรุ่นใหม่กล้าที่จะเสี่ยงกับการลงทุนในรูปแบบใหม่ แทนที่จะเลือกใช้วิธีลงทุนผ่านการออมแบบเดิมนั้น เพราะทุกคน “อยากเปลี่ยนชีวิตให้ได้เร็ว ๆ” อีกทั้งจากลักษณะของคนรุ่นใหม่ที่ค่อนข้างจะมีความ “อดทนต่ำ-ใจร้อน” ก็เลยยิ่งทำให้ “วิธีสร้างเนื้อสร้างตัวแบบเก่าไม่ตอบโจทย์ความคาดหวังในชีวิต” คนรุ่นใหม่

“ด้วยความที่มีฐานรายได้ไม่สูง ทำให้มีทุนในชีวิตน้อย ประกอบกับคนรุ่นใหม่มักจะใจร้อน อยากรวยเร็ว ๆ และมีความอดทนต่ำกว่าคนรุ่นก่อน จึงพยายามมองหาวิธีเพิ่มผลตอบแทนที่ได้มากกว่าวิธีฝากเงิน ทำให้รูปแบบการออมแบบเก่าไม่ดึงดูดใจคนรุ่นใหม่ และกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ ๆ กล้าที่จะเสี่ยงเลือกการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง

ทั้งนี้ ศ.วิทวัส ได้ฝาก “เตือนคนรุ่นใหม่” ผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาว่า… แม้การลงทุนในบางรูปแบบจะสามารถเปลี่ยนแปลงฐานะได้-พลิกชีวิตได้ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า…เมื่อมีคน ที่ “สำเร็จ” ก็ย่อมมีคนที่ “ล้มเหลว” เช่นกัน ซึ่งแม้ความล้มเหลวถือเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ดี ที่สามารถนำมาเป็นบทเรียนชีวิตได้ แต่ก็ขอย้ำเตือนว่า… “การตัดสินใจเลือกวิธีลงทุนใหม่ ๆ ในยุคนี้ยิ่งควรต้องศึกษาและวิเคราะห์ให้ดี” ต้องศึกษาวิเคราะห์จนมั่นใจจริง ๆ ว่ารูปแบบที่จะเลือกนั้นถูกต้องและเหมาะสมกับตนเองหรือตนเองมีความรู้มากพอที่จะตัดสินใจเลือกแล้ว “เพื่อลดความเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุด”

ที่สำคัญ “อย่าคิดรวยเร็วรวยทางลัดด้วยวิธีที่ผิด ๆ”

ระวัง “อย่าหาเงินร้อนมาทุ่มโดยไม่คิดหน้าคิดหลัง”

และก็ “อย่าเชื่อตามกระแส-เสียงร่ำลือกล่าวอ้าง”…

ตัวอย่าง “ไม่รวยซ้ำจบไม่สวย” ก็ “มีให้เห็นอื้อ!!” .