หลังมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 เห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ปกครองและนักเรียนด้านค่าใช้จ่ายทางการศึกษา จำนวน 2,000 บาทต่อนักเรียน 1 คน ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึง ม.6, ระดับอาชีวศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ในกรอบวงเงิน 23,000 ล้านบาท

สำหรับผู้ปกครองที่ได้รับเงินเยียวยาจะสามารถนำเงิน 2,000 บาท นำไปใช้ทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของลูกหลานได้ดังนี้

  • ค่าธรรมเนียมการเรียน
  • ค่าบำรุงการศึกษา
  • ค่าอินเทอร์เน็ต
  • ค่าไฟฟ้า

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการลดค่าใช้จ่ายในระดับอุดมศึกษา ของนิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน ในระยะเวลาภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 กรอบวงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยสามารถนำไปแบ่งเบาค่าใช้จ่าย ดังนี้

สถาบันอุดมศึกษาของรัฐจะได้รับส่วนลดเป็นลักษณะร่วมจ่ายระหว่างรัฐและสถาบันอุดมศึกษาในอัตรา 6:4 โดยค่าเล่าเรียน/ค่าธรรมเนียมการศึกษาส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาท ลดร้อยละ 50 จำนวน 50,001 – 100,000 บาท ลดร้อยละ 30 และเกิน 100,000 บาท ลดร้อยละ 10 โดยส่วนลดสูงสุดรวมกันไม่เกินร้อยละ 50

สถาบันอุดมศึกษาของเอกชน ค่าเล่าเรียน/ค่าธรรมเนียมการศึกษา รัฐสนับสนุนในอัตรา 5,000 บาท/คน

ช่องทางการรับเงิน

กลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับเงิน 2,000 บาท คือ นักเรียน นักศึกษาที่อยู่ในสถานศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการทั้งภาครัฐและเอกชน และสถานศึกษานอกสังกัด ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึง ม.6, ระดับอาชีวศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)

เบื้องต้นคาดว่า เงินดังกล่าวจะมีการจ่ายผ่านสถานศึกษา และให้สถานศึกษาจ่ายเงินตรงแก่นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง แล้วแต่กรณีในรูปแบบเงินสดหรือเข้าบัญชีธนาคารก็ได้ โดยคนกลุ่มนี้คาดว่ามีประมาณ 11 ล้านคน วงเงินรวมที่ใช้ประมาณ 2.16 หมื่นล้านบาท