เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ที่โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวภายหลังการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 4 การศึกษา 2030 ว่า ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้เปิดการประชุมดังกล่าวอย่างเป็นทางการแล้ว โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็พระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดการประชุม ซึ่งรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จะร่วมกันพลิกโฉมการศึกษา เพื่อเร่งรัดผลักดันการดำเนินงานสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนการฟื้นฟูการเรียนรู้และปรับปรุงผลการเรียนสำหรับทุกคน นอกจากนี้จะจัดทำแถลงการณ์กรุงเทพฯ ปี 2022 ด้วย สำหรับการประชุมดังกล่าว ทุกประเทศจะร่วมกันตระหนักถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งก่อให้เกิดความผันผวนที่คาดการณ์ไม่ได้และมีผลกระทบต่อการศึกษาทั้งในระดับโลกและภูมิภาค รวมถึงผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาและสุขภาพความเป็นอยู่ที่ดีของผู้เรียน ดังจะเห็นได้จากผลการดำเนินการและความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 4 ด้านการศึกษา (SDG4) และการแพร่ระบาดยังจะมีผลกระทบระยะยาวต่อเด็ก ๆ ในอนาคต โดยเฉพาะผู้เรียนที่เป็นกลุ่มด้อยโอกาส ทั้งนี้ ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกประสบกับวิกฤติด้านการเรียนอยู่แล้วก่อนการแพร่ระบาดของโรควิด-19 ดังนั้นจึงต้องเร่งพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบการศึกษา เพื่อพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในอนาคต เพื่อให้การศึกษามีความเท่าเทียมและการคำนึงถึงงบประมาณด้านการศึกษาด้วย

ด้าน นางสเตฟาเนีย เกียนนินี่ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโกด้านการศึกษา กล่าวว่า พวกเรามารวมตัวการประชุมในครั้งนี้ เพราะสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งแม้นโยบายจากทุกประเทศ ได้ลงมือปฏิบัติเพื่อให้การเรียนรู้เดินหน้าไปได้อย่างต่อเนื่อง แต่การปิดการเรียนการสอนและการเรียนออนไลน์มากว่า 2 ปี ส่งผลให้เด็กเปราะบางหรือเด็กชายขอบต้องเผชิญกับความไม่เท่าเทียมในการศึกษา เพราะการใช้เทคโนโลยีทำให้เกิดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล ซึ่งเด็กหลายคนทั่วภูมิภาคมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้กลับไปเรียนหนังสืออีก และหากปล่อยให้เป็นเช่นนั้นจะส่งผลต่อระบบการศึกษา ดังนั้นการประชุมในครั้งนี้ จะเป็นเวทีที่รัฐมนตรีด้านการศึกษาทั่วภูมิภาคทุกคน จะร่วมแบ่งประสบการณ์และสร้างวัตกรรมการเรียนรู้บทใหม่ให้เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤติโควิด เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการศึกษาในอนาคตอย่างยั่งยืน