ตามรายงานผลการวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2565 ในวารสารเคมีอาหารและการเกษตร ระบุว่า หากดื่มเบียร์วันละ 12 ออนซ์ หรือประมาณ 350 มล. ติดต่อกัน 1 เดือน จะช่วยเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในลำไส้มนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์หรือไม่ 

การวิจัยโดยนักวิทยาศาสตร์จากโปรตุเกสได้รับแรงบันดาลใจการค้นพบก่อนหน้านี้ว่าอาหารที่ผ่านการหมักต่าง ๆ เช่น ผักดอง กิมจิ โยเกิร์ต เทมเป้ ช่วยให้ระบบลำไส้ของมนุษย์แข็งแรงขึ้น พวกเขาจึงตัดสินใจนำเครื่องดื่มประเภทเบียร์มาทดสอบด้วย เนื่องจากเป็นเครื่องดื่มที่ผลิตจากการหมักข้าวบาร์เลย์ และมีสารโพลีฟีนอลซึ่งเป็นสารพฤกษเคมีที่มีผลต่อแบคทีเรียในลำไส้มนุษย์

ทีมทดลองคัดเลือกชาย 19 คนเข้าร่วมในการทดลอง โดยเป็นผู้ที่มีนิสัยชอบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำในปริมาณที่ไม่มากนัก จากนั้นใช้วิธีสุ่มเลือกและแบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกจะดื่มเบียร์ลาเกอร์ หรือเบียร์ที่หมักด้วยยีสต์แบบนอนก้นถังพร้อมกับอาหารเย็น ติดต่อกันเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ส่วนกลุ่มที่ 2 ให้ดื่มเบียร์แบบไม่มีแอลกอฮอล์พร้อมอาหารเย็นติดต่อกันเป็นเวลา 4 สัปดาห์เท่ากัน

นอกเหนือจากนั้น ผู้เข้าร่วมทดลองสามารถปฏิบัตตัวไปตามปกติ ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงการกินอยู่หรือกิจวัตรการออกกำลังกายใด ๆ 

ผู้เข้าร่วมการทดลองจะต้องให้ทีมงานเก็บตัวอย่างในตอนเริ่มต้นและช่วงปลายของการทดลองที่กินเวลา 1 เดือนนี้ เพื่อนำมาวิเคราะห์เกี่ยวกับแบคทีเรียในลำไส้ ซึ่งผลการทดลองสรุปได้ว่าทั้งสองกลุ่มมีปริมาณเอนไซม์อัลคาไลน์ ฟอสฟาเตสในอุจจาระเพิ่มขึ้น เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าระบบลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น แล้วยังมีประเภทจุลินทรีย์ในลำไส้ที่หลากหลายขึ้นด้วย ซึ่งจะส่งผลให้ผู้เข้าร่วมทดลองมีความเครียดและกระวนกระวายลดน้อยลง มีภูมิคุ้มกันร่างกายที่แข็งแรงขึ้นและมีความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังหลายชนิดลดน้อยลง

อย่างไรก็ตาม การทดลองครั้งนี้เป็นเพียงการทดลองในระยะสั้น และกลุ่มคนที่เข้าร่วมการทดลองก็มีเพียงเพศชาย และยังไม่ได้ลงลึกไปถึงว่าการเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์ในลำไส้ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสุขภาพโดยรวมที่เห็นได้ชัดเจน นอกจากนี้ยังไม่ได้นำเอาปัจจัยอื่น ๆ เช่น นิสัยการใช้ชีวิตของผู้เข้าร่วมทดลอง มาร่วมพิจารณาและวิเคราะห์ด้วย

กล่าวโดยสรุปแล้ว เราควรให้ความสนใจต่ออาหารหลักที่เราบริโภคทุกวันมากกว่าจะเน้นเรื่องการดื่มเบียร์ แม้ว่าจะมีส่วนช่วยให้ระบบลำไส้ทำงานได้ดีขึ้นจริงก็ตาม และไม่ควรดื่มในปริมาณที่มากเกินไปด้วย

แหล่งข่าว : eatingwell.com

เครดิตภาพ : Getty Images