หากจะพูดถึงฟางข้าวเส้นเล็กๆ ที่ถูกทิ้งตามทุ่งนาเป็นสิ่งไร้ค่าหลังจากการเก็บเกี่ยว ถูกเก็บนำมาร้อยเรียงเป็นหุ่นฟางหนู จนกลายมาเป็น “หุ่นฟางนก” สิ่งประดิษฐ์จากภูมิปัญญาชาวบ้านที่คงความประณีตและสวยงามตระการตา จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดชัยนาท ที่ถูกขนานนามว่า “เมืองหุ่นฟางนก”

ชัยนาท เป็นจังหวัดในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง และมีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน มีความอุดมสมบูรณ์ของผืนดินและแหล่งน้ำ ประชาชนส่วนใหญ่มักจะประกอบอาชีพการทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก ทั้งทำนาและทำสวน แต่ในเชิงสังคม จังหวัดชัยนาท มักจะถูกจดจำในภาพของเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งเป็นเขื่อนทดน้ำขนาดใหญ่แห่งแรกของประเทศ

ในอดีต วิถีชีวิตของชาวชัยนาท ผู้คนส่วนใหญ่ยังคงรูปแบบของสังคมชนบท การค้าการลงทุนมีมูลค่าไม่มากนัก และยังคงด้วยวิถีชีวิตที่เรียบง่ายอาศัยพึ่งพากัน ครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2526 หรือเมื่อ 40 ปีที่แล้ว นายกุศล ศานติธรรม ผวจ.ชัยนาท ในขณะนั้น ได้มีการริเริ่มโครงการก่อสร้างสวนนกชัยนาท เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดที่หวังจะดึงดูดความเจริญและรายได้เข้าสู่จังหวัด ต่อมานายกุศล เสียชีวิตลง และได้มี ดร.ไพรัช เตชะรินทร์ ผวจ.คนต่อมาได้สานต่องานโครงการสวนนกชัยนาทต่อจนแล้วเสร็จ จนทำให้สวนนกชัยนาท เป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดชัยนาท และยังเป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ

ในปี พ.ศ. 2528 จ.ชัยนาท ได้มีหนูนาระบาดกัดกินต้นข้าวของเกษตรกรได้รับคามเสียหายอย่างหนัก และได้หาวิธีการปราบหนูนา ทางจังหวัดชัยนาทจึงได้มีการจัดงานรณรงค์ปราบหนูนาขึ้น และกลุ่มเกษตรกรชาวนายังได้มีการนำฟางข้าวมาประดิษฐ์สร้างเป็นหุ่นหนูนาขนาดใหญ่เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ของงานรณรงค์กำจัดหนูนาในครั้งนั้น เมื่อ ดร.ไพรัช ที่ดำรงตำแหน่ง ผวจ.ชัยนาท ในขณะนั้นเห็นจึงได้มีแนวคิดที่จะนำฟางข้าวมาสร้างเป็นหุ่นฟางนก เพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์สวนนกชัยนาทอีกทางหนึ่ง ซึ่งจากการทำหุ่นฟางนกเพื่อโปรโมตการท่องเที่ยวสวนนกชัยนาท ปรากฏว่าได้รับความสนใจและเป็นที่กล่าวถึงเป็นอย่างมาก จ.ชัยนาท จึงได้จัดงานประกวดหุ่นฟางนกโดยให้เกษตรกรแต่ละอำเภอ รวมถึงภาคเอกชน ทำหุ่นฟางนกส่งเข้าประกวด โดยเรียกชื่องานนั้นว่า “มหกรรมหุ่นฟางนกชัยนาท ครั้งที่ 1” และได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 6-12 ก.พ. 2528 ที่บริเวณสนามกีฬาหน้าศาลากลางจังหวัด ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานต่อมาจนถึงปัจจุบันนั่นเอง และงานในครั้งนั้นยังมีหุ่นฟางนก กว่า 130 ตัว มาเข้าร่วมประกวดและจัดแสดง “มหกรรมหุ่นฟางนกชัยนาทครั้งที่ 1” ซึ่งมีความแปลกใหม่และสวยงาม ทำให้ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จึงได้เชิญจังหวัดชัยนาทส่งหุ่นฟางนกเข้าร่วมขบวนเปิดงาน ปีการท่องเที่ยวไทย ใน พ.ศ. 2530 ที่ กรุงเทพฯ ทำให้มหกรรมหุ่นฟางนกชัยนาท ได้รับการยอมรับ และถือเป็นงานประเพณีของจังหวัดที่จัดขึ้นทุกปีจนมาถึงปัจจุบัน

สำหรับในปีนี้ นายนที มนตริวัต ผวจ.ชัยนาท เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงานมหกรรมหุ่นฟางนกชัยนาทและของดีศรีท้องถิ่น ประจำปี 2566 ครั้งที่ 38 ณ บริเวณสวนแสดงหุ่นฟางนก สวนนกชัยนาท โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดชัยนาท ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และสื่อมวลชน เข้าร่วมการแถลงข่าว

การจัดงานมหกรรมหุ่นฟางนกและของดีศรีท้องถิ่นจังหวัดชัยนาท ครั้งที่ 38 กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 2-12 ก.พ. 66 ณ บริเวณสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ และเขื่อนเรียงหิน หน้าศาลากลางจังหวัดชัยนาท เพื่อสืบสานประเพณี วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น (OTOP) ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ส่งเสริมการท่องเที่ยว จ.ชัยนาท รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชัยนาทมากขึ้น

กิจกรรมภายในงาน พบกับการประกวดขบวนแห่วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของอำเภอ ทั้ง 8 อำเภอ การแสดงศิลปวัฒนธรรม สักการะศาลหลักเมือง นมัสการรูปหล่อหลวงปู่ศุข การประกวด หุ่นฟางนกไฮเทค การประกวดหุ่นฟางนกสวยงาม การประกวดโมบายนก การประกวดวาดภาพระบายสี และการประกวดภาพถ่าย ชมหุ่นฟางนกไฮเทค หุ่นฟางนกสวยงาม โมบายนก แสง สี เสียง ท่ามกลางบรรยากาศสวนป่าสวยงามบริเวณสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ จุดนั่งพักผ่อน และมุมถ่ายภาพสำหรับนักท่องเที่ยว การจำหน่ายสลากกาชาดและร่วมสนุกชิงโชคกับร้านสกุณากาชาด การจัดจำหน่ายสินค้าของศรีท้องถิ่นจังหวัดชัยนาท สินค้าโอทอป-นวัตวิถี สินค้าเกษตร สินค้าราคาถูก นิทรรศการ และศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ชิมอาหารพื้นถิ่นชัยนาท, นิทรรศการส่วนราชการ, และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย สำหรับปีนี้ ได้จัดให้มีการประกวดร้องเพลง “รำวงมหาดไทยเพื่อคนไทย” ในวันที่ 3 ก.พ. ณ เวทีกลาง โดยทีมชนะเลิศจะได้เป็นตัวแทน จ.ชัยนาท ด้วย.