สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 21 พ.ค. ว่า รายงานสถิติโลกประจำปีของดับเบิลยูเอชโอ แสดงให้เห็นถึงภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้น จากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (เอ็นซีดี) เช่น โรคหัวใจ, โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน

นอกจากนี้ การค้นพบอันน่าตกใจ ซึ่งอิงตามข้อมูลจนถึงปี 2565 เผยให้เห็นว่า การระบาดใหญ่สร้างหายนะไปทั่วโลก และคร่าชีวิตผู้คนอย่างเป็นทางการเกือบ 7 ล้านคน โดยเชื่อว่าตัวเลขที่แท้จริงน่าจะอยู่ที่เกือบ 20 ล้านคน

รายงานดังกล่าวเปิดเผยว่า เชื้อไวรัส กับผลกระทบในวงกว้างของวิกฤติ ทำให้ชีวิตของประชากรนับล้านคนสั้นลงอย่างฉับพลัน โดยเฉพาะช่วงสองปีแรกของการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลให้เกิดการสูญเสียปีสุขภาวะทั่วโลกถึงราว 336.8 ล้านปี

ถึงแม้ว่าอุบัติการณ์ของโรคติดเชื้อต่าง ๆ เช่น เอชไอวี, วัณโรค และโรคมาลาเรีย จะลดลงอย่างมาก เช่นเดียวกับความเสี่ยงของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากกลุ่มโรคเอ็นซีดี แต่หลังจากเกิดการระบาดใหญ่ ความไม่เท่าเทียมที่มีอยู่ ในการเข้าถึงบริการสุขภาพคุณภาพสูง, การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันเป็นประจำ และการคุ้มครองทางการเงิน กลับเลวร้ายลง ยิ่งไปกว่านั้น แนวโน้มที่ดีขึ้นของโรคมาลาเรียและวัณโรค ยังเปลี่ยนไปในทิศทางตรงกันข้ามเช่นกัน

การศึกษาระบุว่า แม้โลกยังคงมีความก้าวหน้าด้านสุขภาพโดยรวม แต่การเสียชีวิตจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังกลับเพิ่มขึ้นในแต่ละปี ซึ่งดับเบิลยูเอชโอ กล่าวในแถลงการณ์ว่า หากแนวโน้มยังเป็นเช่นนี้ต่อไป กลุ่มโรคเอ็นซีดีคาดว่าจะมีสัดส่วนประมาณ 86% ของจำนวนผู้เสียชีวิต 90 ล้านคนต่อปี ภายในช่วงกลางศตวรรษนี้

“รายงานดังกล่าวส่งสัญญาณอย่างชัดเจนถึงภัยคุกคามของกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งทำให้ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก” นพ.เทดรอส แอดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการดับเบิลยูเอชโอ กล่าวเพิ่มเติมว่า การค้นพบครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการเพิ่มการลงทุนอย่างมากในด้านสุขภาพ และระบบสุขภาพ เพื่อกลับสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES