เมื่อวันที 23 พ.ค. ที่พรรคก้าวไกล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงว่าการเซ็น MOU ของพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 8 พรรค ต้องทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนว่า เรื่องการจัดทำบันทึกความเข้าใจของพรรคร่วม เป็นแค่วาระการทำงานร่วมกันขั้นต่ำ ในส่วนของพรรคก้าวไกล 300 นโยบาย ที่เคยหาเสียงไว้พรรคจะพยายามผลักดันต่อให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในส่วนที่เป็นวาระร่วมทั้งหมด 23 ข้อ แต่ในขณะเดียวกันยังมีวาระเฉพาะของพรรคก้าวไกล พยายามจะผลักดันผ่าน 2 กลไกด้วยกัน 1.กลไกแรกคือการผลักดันผ่านการบริหารเมื่อตนเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ยังมีอำนาจในการบริหารจัดการเพื่อให้วาระของพรรคก้าวไกล ที่ได้นำเสนอไว้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 2.รัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลที่จะอยู่ตามกระทรวงต่างๆ ในการผลักดันวาระ ที่อาจจะไม่ได้อยู่ในเอ็มโอยู แต่เป็น 300 นโยบาย ที่เราเคยนำเสนอไว้ 3.คือแม้ว่าก้าวไกลอาจจะไม่ได้เป็นเจ้ากระทรวง นโยบายเหล่านั้นเราก็ยังสามารถผลักดันโดยการประสานงานของรัฐบาลร่วม การพูดคุยเจรจาเพื่อให้รัฐมนตรีผลักดันนโยบายของพรรคเราได้ ซึ่งเป็นกลไกการผลักดันนโยบายผ่านอำนาจบริหาร

ในขณะเดียวกันหลายๆ เรื่อง เป็นเรื่องของการนิติบัญญัติ โดยเฉพาะกฎหมาย 45 ฉบับ ที่เราได้สัญญากับประชาชนไว้ว่า เราจะผลักดัน เนื่องจากเรามี ส.ส. 152 คน สามารถที่จะผลักดันกฎหมายเพื่อให้เกิดการถกเถียง ผ่านสภาให้ออกมาเป็นกฎหมาย ถึงแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในวาระร่วมของพรรคจัดตั้งรัฐบาล แต่มีกฎหมายหลายฉบับที่เราสามารถผลักดันเข้าไปและทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับพี่น้องประชาชนได้จริง ดังนั้นย้ำอีกครั้งว่า การลงนาม MOU ทั้ง 23 ข้อ เป็นวาระร่วมแค่ขั้นต่ำ ที่ประชาชนจะคาดหวังว่าทำได้เร็วเพราะมีแนวร่วม แต่ในขณะเดียวกันหลายประเด็นที่อาจทำให้พี่น้องประชาชนลำบาก และต้องการเปลี่ยนแปลงผ่านกฎหมายที่ก้าวหน้าหรือผ่านการบริหารงานของรัฐบาล ก็ยังมีวาระเฉพาะที่สามารถผลักดันได้เช่นเดียวกัน

ในส่วนของคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล วันนี้ในช่วงเช้าได้มีการประชุมครั้งแรกร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งยืนยันว่าการขึ้นค่าแรง 450 บาท เป็นเรื่องที่ต้องทำทันที โดยมีมาตรการในการช่วยเหลือประชาชน และไม่ได้เป็นการขึ้นค่าแรงตามใจตัวเอง แต่ขึ้นแบบมีหลักการตามหลักสากล ว่าตัวเลขควรจะเป็นอย่างไร ถึงอย่างไรก็ตาม ตอนนี้ต้องรอหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการรับรอง ส.ส. ของ กกต. เปิดประชุมสภา เลือกประธานสภา ก่อนที่เราจะเข้าไปเป็นนายกรัฐมนตรี ตอนนี้มันยังมีเวลาอยู่ อีก 1-2 เดือน ดังนั้นช่วงนี้ ตนจึงได้เดินสายรับฟังความเห็นให้รอบคอบ เรากำลังเดินหน้ารับฟังสภาอุตสาหกรรมฯ วันที่ 26 พ.ค. ก็จะเป็นสภาอุตสาหกรรมฯ ที่เป็นรุ่นเยาวชนลงมาหน่อย รุ่นเด็กลงมาหน่อย หอการค้า พี่น้องแรงงาน สภาแรงงาน สภาเอสเอ็มอี กลุ่มธนาคาร กลุ่มทุนต่างๆ เป็นต้น เพื่อรับฟังความเห็นให้รอบคอบ และเรายืนยันกับพี่น้องแรงงานว่าค่าแรงขั้นต่ำมีความจำเป็นที่จะต้องขึ้นจริงๆ ต้องขึ้นสม่ำเสมอโดยอัตโนมัติ เพื่อให้เป็นประโยชน์กับทั้ง 2 ฝั่ง ทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้าง

เมื่อถามว่า ถึงการออกมาโพสต์แสดงความเห็นถึง MOU ของนายปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล ในประเด็นมาตรา 112 และการนิรโทษกรรม นายพิธา กล่าวว่า คงเป็นความกังวลใจของนายปิยบุตร ตนเข้าใจความกังวลใจนั้น ซึ่งข้อความใน MOU ก็เป็นข้อความที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ MOU กับรัฐธรรมนูญมันก็ไปในทิศทางเดียวกัน ตนคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาหรือมีความเข้าใจผิดอะไรกันในภาพรวม

เมื่อถามว่ามีการตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุมีการออกมาแถลงช้าเป็นเพราะมีการเพิ่มข้อความบางส่วน และตัดข้อความใน MOU ในเรื่องการนิรโทษกรรมออกไป นายพิธา กล่าวว่า คงไม่ใช่แค่นั้น เพราะตอนแรกตนคิดว่าจะใช้เวลาแค่ 1 ชั่วโมง แต่บางคนอาจจะมาไม่ตรงเวลาบ้าง กว่าจะเริ่มเปิดประชุมได้ กว่าจะพิมพ์เอกสารให้ครบ หรือมีการแก้อะไรหลายอย่าง ก็มีทั้งเรื่องที่ถาม เรื่องสมรสเท่าเทียม เรื่องสุราก้าวหน้า จริงๆ เป็นไปตามที่นักข่าวได้เก็งไว้ก่อนหน้านั้น คือมีโอกาสที่จะต้องมาแก้ถ้อยคำสุดท้าย แต่ภาพรวมที่ออกมาก็เป็นไปได้ด้วยดี ทุกคนก็เห็นด้วยตรงกันกับ MOU ที่เป็นความเห็นสุดท้าย

นายพิธา กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไปหลังการลงนามใน MOU น่าจะเป็นการเดินสายพบกับกลุ่มพี่น้องประชาชนมากกว่า ซึ่งคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลก็ไม่ได้มีแต่พรรคก้าวไกล แต่ยังมีพรรคอื่นไปกับเราด้วย จากนี้จะเชิญพรรคร่วมมารับฟังให้มากขึ้นว่า นโยบายของพวกเราที่รวมกันเป็น MOU เมื่อคุยกับคนที่ได้รับผลกระทบ เรารับฟังและอธิบายกับเขาอย่างรอบคอบ ก็น่าจะเป็นขั้นตอนต่อไป เพราะเราต้องทำนโยบายร่วมในการแถลงต่อรัฐสภาต่อไป รับประกันว่าจะต้องเอาคนที่เหมาะสมกับงาน มีความรู้จริงกับกระทรวงนั้นๆ มาทำหน้าที่ในการบริหารแน่นอน

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นักลงทุนจับตาบุคคลที่จะมาบริหารกระทรวงต่างๆ จะให้ความเชื่อมั่นกับนักลงทุนได้อย่างไร นายพิธา กล่าวว่า ก็ต้องรอดู แต่รับประกันได้ว่า เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องบริบทนี้ ต้องอธิบายในช่วงที่มีการเลือกตั้งที่ผ่านมา และมีความผันผวนในระบบ คนที่ชนะเลือกตั้ง มีโอกาสที่จะไม่ได้เป็นนายกฯ เพราะระบบการเมืองมันมันมีอยู่ โดยสิ่งที่นักลงทุนเป็นห่วง ไม่ใช่ศักยภาพของประเทศไทย แต่สิ่งที่เขากังวลคือความไม่แน่นอนทางการเมือง ความไม่แน่นอนของระบบว่าในระบบประชาธิปไตย คนที่ชนะเลือกตั้งต้องได้จัดตั้งรัฐบาล แต่ตอนนี้มันมีความไม่แน่นอนอยู่ในเรื่องที่เป็นระเบิดเวลามาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2560 ดังนั้นถ้าต้องการทำให้เกิดเสถียรภาพในตลาดการค้าการลงทุน ก็น่าจะเป็นการพูดคุยกันว่า เรากลับมาสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างสันติในระบบรัฐสภาแล้ว และเจตจำนงของพี่น้องประชาชนจำนวนมากจะไม่สูญเปล่า ถ้าเรื่องนี้ชัดเจน ตนคิดว่าตลาดไปต่อ

ทางด้านนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายของพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ในส่วนของพรรคก้าวไกล ตนคิดว่าเราให้ความชัดเจนในเรื่องของเสียงสนับสนุนที่เพียงพอต่อการจัดตั้งรัฐบาล และวาระที่จะดำเนินการต่อไปแล้ว ตนคิดว่าถ้าเราอยากให้นักลงทุนมีความมั่นใจมากขึ้น ก็อยากให้ทาง ส.ว. รีบออกมายืนยันว่า พร้อมจะเคารพเสียงข้างมากของประชาชนที่แสดงออกผ่านคูหาเลือกตั้ง และสนับสนุนนายกฯ และพรรคการเมืองที่สามารถรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรตามหลักสากล

ตนคิดว่าน่าจะเป็นทางออกที่ทำให้ทุกคนมีความมั่นใจมากขึ้น เกี่ยวกับกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล และพรรคก้าวไกลยืนยันว่า เราพร้อมชี้แจงและคลายข้อกังวลที่ ส.ว. บางท่านอาจจะมี ยืนยันอีกครั้งว่า ข้อเรียกร้องของเราไม่ได้เรียกร้องให้ ส.ว. จะต้องนิยมชมชอบพรรคก้าวไกลเป็นการเฉพาะ แต่ขอให้เคารพเสียงของประชาชนที่แสดงออกผ่านคูหาเลือกตั้ง หลายท่านเคยให้ความเห็นไว้ในปี 62 ว่าเหตุผลที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตอนนั้นเพราะ พล.อ.ประยุทธ์ สามารถรวบรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของสภา ดังนั้นจึงขอให้ ส.ว. ยึดหลักการเดิมที่เคยให้ไว้ด้วย ขอให้สนับสนุนนายพิธา และรัฐบาลผสมที่พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำด้วยเหตุผลเดียวกัน