สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ว่า รายงานในวารสาร Nature ระบุว่า อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทุกองศาเซลเซียส จะเพิ่มความหนาแน่นของฝนตกหนักขึ้น 15% ที่ระดับความสูงมากกว่า 2,000 เมตร และความสูงที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 1,000 เมตร จะเพิ่มปริมาณน้ำฝนอีก 1% หรืออีกนัยหนึ่งคือ หากโลกร้อนขึ้น 3 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม มันจะมีความเป็นไปได้ของการเกิดอุทกภัยที่รุนแรงกว่าเดิมเกือบครึ่งหนึ่ง

ผู้เขียนรายงานกล่าวเตือนว่า การค้นพบดังกล่าวเน้นย้ำถึงความเปราะบางของโครงสร้างพื้นฐาน ที่ไม่ได้ออกแบบมาให้ทนต่อเหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรง ขณะที่รายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาล ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ (ไอพีซีซี) ระบุเสริมว่า จากแนวโน้มในปัจจุบัน โลกจะร้อนขึ้น 2.8 องศาเซลเซียส ภายในสิ้นศตวรรษนี้

งานศึกษาชิ้นใหม่ ซึ่งอ้างอิงจากข้อมูลในช่วง 70 ปีที่ผ่านมา และการประมาณการตามแบบจำลองสภาพอากาศ พบปัจจัยขับเคลื่อนหลัก 2 อย่าง ที่อยู่เบื้องหลังการเพิ่มขึ้นในเหตุการณ์ฝนตกหนักบนพื้นที่สูง ในโลกที่ร้อนขึ้น โดยประการแรกคือ การมีน้ำเพิ่มขึ้น ซึ่งบรรดานักวิทยาศาสตร์รู้มานานแล้วว่า อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 1 องศาเซลเซียส จะเพิ่มปริมาณความชื้นในชั้นบรรยากาศได้ถึง 7%

ทว่าปัจจัยประการที่สองนั้นน่าประหลาดใจยิ่งกว่า เพราะนักวิจัยต้องดูว่าเหตุการณ์นั้นเป็นฝนตกหนัก หรือหิมะตกหนัก เนื่องจากน้ำฝนทำให้เกิดการไหลบ่าอย่างรวดเร็ว จนนำไปสู่ความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอุทกภัย, ดินถล่ม และการพังทลายของดิน

อนึ่ง พื้นที่ภูเขา และที่ราบน้ำท่วมถึงที่อยู่ติดกัน มีแนวโน้มที่จะประสบกับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากฝนตกหนัก ทั้งบริเวณในและรอบ ๆ เทือกเขาหิมาลัย และเทือกเขาฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ของทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ควรเตรียมแผนการปรับตัวด้านสภาพอากาศที่มั่นคง

“พวกเราจำเป็นต้องพิจารณาถึงการเพิ่มขึ้นของเหตุการณ์ฝนตกหนัก ในการออกแบบและสร้างเขื่อน, ทางหลวง, ทางรถไฟ และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ หากเราต้องงการทำให้แน่ใจว่า สิ่งเหล่านั้นจะคงอยู่อย่างยั่งยืนในสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น” นายโมฮัมเหม็ด ออมบาดี นักวิจัย และผู้เขียนนำของรายงาน กล่าว.

เครดิตภาพ : AFP