เมื่อวันที่ 8 ก.ค. ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ หลักสี่ กรุงเทพฯ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ และตัวแทนญาติคนตาย 99 ศพ แถลงผ่านสื่อมวลชน ร้องขอศาลฎีกาให้คืนความยุติธรรมให้ผู้เสียชีวิต 99 ศพ และครอบครัวผู้ตายกับผู้บาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คน ในเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 “99 ศพ สมควรได้รับคืนความยุติธรรมและพ้นจากตราบาปว่าเป็นผู้ผิด”

โดย นายธาริต แถลงประเด็นต่างๆ โดยมีน้ำตาคลอ ระบุว่า ประเด็นที่ 1 สืบเนื่องจากเหตุการณ์ชุมนุมของ นปช. เมื่อช่วงเมษายน-พฤษภาคม 2553 ศูนย์ ศอฉ. โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ออกคำสั่งให้ทหารใช้อาวุธปืนสงครามเอ็ม 16 เข้าสลายการชุมนุม ซึ่งถือว่าเป็นคำสั่งให้ทำร้ายประชาชน ทำให้มีผู้บาดเจ็บกว่า 2,000 คน และเสียชีวิต 99 ศพ จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งมีตนเป็นอธิบดีในขณะนั้น จำเป็นต้องทำหน้าที่เพื่อรักษาความยุติธรรม ด้วยการดำเนินคดีต่อผู้ออกคำสั่งให้ทำร้ายประชาชน ในข้อหาตามมาตรา ป.อาญา มาตรา 288-289

นายธาริต กล่าวต่อว่า จากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ต้องหาในคดี คือ นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ยื่นฟ้องพนักงานสอบสวนในคดี ตามมาตรา 157 มาตรา 200 โดยกล่าวหาว่า พนักงานสอบสวนกลั่นแกล้งพวกตนให้ถูกดำเนินคดี​เพื่อรักษาความยุติธรรม ทั้งต่อพนักงานสอบสวน รวมถึงผู้เสียชีวิต 99 ศพ และผู้บาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คน ตนเห็นว่า หากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ได้ทำหน้าที่ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดแล้วถูกฟ้องกลับ และถูกดำเนินคดีตาม ป.อาญา มาตรา 157 มาตรา 200 อาจก่อให้เกิดลัทธิเอาอย่าง ด้วยการใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย มาตรา 157 มาตรา 200 ฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็จะกลายเป็นแบบอย่างที่กระทำความผิดแล้วไม่ต้องรับผิด เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐกลัวที่อาจจะต้องได้รับโทษอาญาเสียเอง ตนจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ป.อาญา มาตรา 157 และมาตรา 200 นั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยยื่นคำร้องผ่านศาลฎีกา ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ศาลยุติธรรมจะต้องส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งหมายความว่า ศาลอาญาและศาลฎีกาจะวินิจฉัยเสียเองไม่ได้

อดีตอธิบดีดีเอสไอ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ 2 ตามที่มีข่าวเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า ตนได้เลื่อนการฟังคำพิพากษาศาลฎีกาหลายๆ ครั้ง โดยอาจเป็นการหลบเลี่ยงอย่างน่าสงสัยนั้น ขอชี้แจงว่า มีการขอศาลอาญาเลื่อนคดีหลายๆ ครั้งจริง แต่มีสาเหตุมาจากเหตุสำคัญถึง 4 ประการ ได้แก่ 1.การส่งหมายศาลในครั้งแรกไม่ตรงกับภูมิลำเนาจำเลย 2. จำเลยเจ็บป่วยเป็นโควิดสองครั้ง เส้นเลือดในสมองตีบ และเข้ารับการผ่าตัดไตทั้ง 2 ข้าง ที่โรงพยาบาลพญาไท 2 และโรงพยาบาลศิริราช 3. มีญาติผู้ตายของ 99 ศพ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สามในคดีนี้หลายราย หลายครั้ง และ 4. จำเลยยื่นขอให้ศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กฎหมายที่ใช้บังคับกับคดี ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ​ซึ่งเหตุจำเป็นทั้ง 4 ประการดังกล่าว ศาลอาญาต้องเลื่อนการอ่านคำพิพากษา เพราะต้องส่งให้ศาลฎีกาเป็นผู้สั่งคำร้อง ด้วยเหตุคดีอยู่ในอำนาจของศาลฎีกานั้นเอง การเลื่อนอ่านคำพิพากษาคดีนี้หลายๆ ครั้ง จึงมีเหตุสำคัญและจำเป็นทั้ง 4 ประการดังกล่าว ซึ่งเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่ได้เกิดจากความผิดของนายธาริต ที่จะหลบเลี่ยงไม่ฟังคำพิพากษา

นายธาริต กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ 3 ตนและญาติผู้ตายจำนวนมาก มีความกังวลและไม่สบายใจต่อคำพิพากษาศาลฎีกา ที่จะได้มีการอ่านโดยศาลชั้นต้น (ศาลอาญา) จึงมีการร้องขอโดยญาติผู้ตาย เข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สามจำนวนมากหลายราย ตนก็ได้ร้องขอให้ศาลฎีกาส่งคดีไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มาตรา 157 มาตรา 200 แห่ง ป.อาญา ที่จะใช้บังคับคดีนั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ขณะนี้คำร้องต่างๆ ที่กล่าวมา ยังไม่ทราบผลว่าศาลฎีกาได้สั่งคำร้องอย่างไร โดยเฉพาะได้สั่งให้ส่งมาตรา 157 และมาตรา 200 ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่

นายธาริต กล่าวว่า ประเด็นที่ 4 ​ข้อกังวลและไม่สบายใจของตน และญาติผู้ตายเป็นอย่างยิ่งคือ ด้วยความเคารพต่อศาลฎีกา แม้ว่าศาลอาญาซึ่งเป็นศาลชั้นต้น ได้พิพากษายกฟ้องตน กับพวก เพราะเหตุว่าได้กระทำการตามหน้าที่ และผู้ตายทั้ง 99 ศพ ไม่ได้กระทำความผิดใดๆ แต่หากศาลฎีกาจะได้พิพากษากลับไม่เป็นไปตามศาลชั้นต้น โดยลงโทษตนกับพวก ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่รักษากฎหมายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว ย่อมเกิดผลอย่างใหญ่หลวงมาก เพราะอาจพิพากษาระบุเช่นเดียวกับศาลอุทธรณ์ว่า การที่ตนกับพวก พนักงานสอบสวนดีเอสไอ ได้ดำเนินคดีกับนายอภิสิทธิ์ กับนายสุเทพ นั้นไม่ชอบ เป็นความผิด เพราะนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ กระทำการออกคำสั่ง ศอฉ. ให้ทหารใช้อาวุธสงครามไปยิงทำร้ายประชาชนจนเสียชีวิต 99 ศพ นั้น เพราะเกิดเหตุร้ายแรงจากการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมและผู้ตายดังกล่าว

การสั่งให้ระงับเหตุของนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ จึงเป็นกรณีสมควรแก่เหตุแล้ว ผลก็จะเปรียบเสมือนการ “รับรองยืนยันหรือการันตี” ให้นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ และผู้เกี่ยวข้องในเหตุร้ายแรงนี้เป็นผู้บริสุทธิ์ เกิดเป็นบรรทัดฐานแบบอย่าง ในขณะที่ผู้ตายทั้ง 99 ศพ พร้อมครอบครัว และผู้บาดเจ็บอีก 2,000 กว่าคน จะเป็นอันสิ้นสุดที่จะได้รับความยุติธรรมและการเยียวยาในความเสียหายทันที และเป็นการโยนตราบาปให้กับผู้ตาย 99 ศพ ว่าเป็นผู้ผิดที่สมควรตาย นานาประเทศจะเกิดข้อสงสัยในกระบวนการยุติธรรมของไทยเป็นอย่างยิ่ง อาจเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงทำนองนี้ได้อีกในประเทศไทย เพราะได้แบบอย่างว่าทำแล้วไม่ต้องรับผิด และเจ้าหน้าที่รัฐทั้งดีเอสไอและหน่วยงานอื่นๆ จะไม่กล้าดำเนินคดี เพราะอาจต้องติดคุกเสียเอง คำพิพากษาของศาลฎีกา ซึ่งถือเป็นบรรทัดฐานในคดีนี้ จึงสำคัญอย่างที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธาริต ได้กล่าวด้วยว่า ในช่วงแรกของการมีการดำเนินคดี ต้องเรียนเพื่อให้เข้าใจ จะมีการพูดเสมอว่า แกนนำ นปช. ถูกดำเนินคดี แล้วทำไม อภิสิทธิ์-สุเทพ หรือทหาร ต้องถูกดำเนินคดีอีก เพราะถูกบิดเบือนว่า นปช. ร้าย เป็นคนผิด สมควรตาย คนสั่งยิงไม่สมควรต้องรับผิด ตรรกะนี้ไม่ใช่ นปช. ลุงป้าที่เขาไปชุมนุม เขาไม่ได้ผิด แกนนำ ถูกดำเนินคดีกล่าวหาว่าผิด ก็ดำเนินคดีไป ภาษาดีเอสไอเรียกว่า ล้ำเส้นเข้าไปใน เรดโซน ผิดกฎหมาย ขณะที่ ศอฉ. ก็เข้าไปในเรดโซน คือใช้คำสั่งให้ทหารเอา เอ็ม 16 เข้าไปในพื้นที่ ก็ทราบดีว่า 99 ศพ และผู้บาดเจ็บ 2,000 กว่าคน

“ผมถูกเรียกเข้าไปในค่ายทหารแห่งหนึ่ง ในถนนราชดำเนิน คนที่เรียกผมเข้าไป อาจไม่ควรต้องถูกเปิดเผยชื่อ แต่เป็นทหารชั้นผู้ใหญ่มาก และเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติ และว่า ธาริต อย่าดำเนินคดีเรื่อง 99 ศพ ถ้าไม่ฟังกัน พวกอั๊วปฏิวัติ ผมจะทำอย่างไร ในเมื่อศาลได้ชี้มาว่า การตายมันเกิดจากทหารใช้อาวุธสงคราม มีการสั่งการต่างๆ ถ้าผมไม่ทำ คนอื่นก็ต้องทำ เป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่ได้ทำคนเดียว ทำกับคณะกรรมการไต่สวน”

“ผมถือว่าเป็นการขู่ครั้งนั้น เขาบอกว่า พวกอั๊วปฏิวัติ และลื้อจะโดนย้ายคนแรก 9 ปีที่ผ่านมา ไม่มีการพูดความจริงชัดเจนว่า ปฏิวัติ เพราะอะไร พูดเรื่องจำนำข้าวบ้าง จริงหรือเปล่า พูดเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอยบ้าง จริงหรือเปล่า มี กปปส. เข้ามา ถูกดำเนินคดี แล้วยังไง”

“แต่ที่แน่ๆ ปฏิวัติยังไม่ครบ 24 ชั่วโมง คนที่ถูกย้ายทันที คือนายธาริต และอดีตอัยการสูงสุด ผู้รับผิดชอบดำเนินคดี 99 ศพ เป็นความเชื่อของผม ภายใต้ข้อเท็จจริงที่สัมผัส ในฐานะข้าราชการมืออาชีพที่ทำงานด้านนี้ ว่านี่คือเหตุสำคัญของการปฏิวัติ”

ต่อจากนั้น นายธาริต กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ขอเรียกร้องให้นายกฯ คนใหม่ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระ ซึ่งผมขอใช้คำว่า senior Super board เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาด ดึงความยุติธรรมให้ 99 ศพ ตนพร้อมไปศาลในวันจันทร์นี้ และพร้อมติดคุก

“ผมพร้อมจะติดคุก ถือว่า ติดคุกครั้งนี้ไม่สูญเปล่า แต่เป็นจุดแตกหัก ที่ได้เวลาคืนความยุติธรรม” นายธาริต กล่าว