เมื่อวันที่ 23 ก.ย. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิว่า ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนงานกรอบคุณวุฒิแห่งชาติตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ พร้อมทั้งให้มีแผนปฎิบัติการด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนในสาขาอาชีพที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต่อการพัฒนาประเทศตาม NQF ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาและฝึกอบรมมาตรฐานอาชีพตาม NQF นำร่อง 8 สาขาอาชีพ ตั้งแต่การเชื่อมโยงหลักสูตร วิพากษ์หลักสูตร จัดทำคู่มือ ขึ้นทะเบียนรับรองหลักสูตรตาม NQF และจะมีการรับนักศึกษาในสาขาวิชาดังกล่าวในปีการศึกษา 2565 ทั้งนี้ จะนำไปสู่การขยายผลสู่ธนาคารหน่วยกิต หรือ Credit Bank โรงเรียนขยายโอกาสรูปแบบห้องเรียนอาชีพ การเทียบวุฒิ ซึ่งผู้เรียนจะมีสมรรถนะตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในอนาคต และยกระดับความเชี่ยวชาญของคนในตลาดแรงงานมากขึ้น

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการเชื่อมโยงหลักสูตรการเรียนการสอนกับมาตรฐานอาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติในสาขาอาชีพที่มีความจำเป็นเร่งด่วน 8 สาขาวิชานั้น เป็นความร่วมมือระหว่างสภาการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (Center of Vocational Manpower Networking Management : CVM) เพื่อผลักดันให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรการจัดการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง (ปวส.) ให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพตามหลักการของกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ทั้งนี้ จะมีการจัดทำต้นแบบการขึ้นทะเบียนหลักสูตรที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติและขยายผลไปสู่สถานศึกษา CVM ต่อไป อย่างไรก็ตาม ตนจะนำเรื่องการขับเคลื่อนงานกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในเร็ว ๆ นี้