เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 7 ก.พ. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. แถลงข่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการป.ป.ช. 3 ครั้ง และในการประชุมครั้งที่ 15/2567 เมื่อวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา มีมติเห็นควรเสนอข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณี การเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาดำเนินการตามควรแก่กรณีในการป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตหรือเกิดความเสียหายต่อประโยชน์ของรัฐหรือประชาชน 8 ข้อ ซึ่งประธานป.ป.ช.ได้ลงนามเรียบร้อย ซึ่งจะส่งให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใน 2-3 วันนี้ โดยเอกสารมีทั้งหมด 61 หน้า ส่วนรายละเอียดที่จะเสนอ คือ 

1.รัฐบาลควรศึกษา วิเคราะห์ การดำเนินโครงการตามนโยบายฯ รวมทั้งชี้แจงความชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมว่าผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการจะไม่ตกแก่พรรคการเมือง นักการเมือง หรือเอื้อประโยชน์แก่คนใดคนหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพมากกว่าผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งอาจเข้าข่ายการทุจริตเชิงนโยบาย ทั้งนี้ ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการอย่างแท้จริง เช่น เป็นผู้ที่มีรายได้น้อย หรือกลุ่มเปราะบาง โดยต้องมีขั้นตอนและวิธีการที่เป็นรูปธรรมชัดเจนเพื่อให้สามารถกระจายการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

2.การหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 และพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล ได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566 เกี่ยวกับโครงการดังกล่าวนั้น มีความแตกต่างกัน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรดำเนินการตรวจสอบว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หรือไม่ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นบรรทัดฐานสำหรับพรรคการเมือง สามารถหาเสียงไว้อย่างไร เมื่อได้รับเลือกตั้งแล้ว ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามที่ได้หาเสียงไว้

3.การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการดิจิทัลลอลเล็ต ควรคำนึงถึงความคุ้มค่าและความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผลกระทบ และภาระทางการเงิน การคลังในอนาคต ภายใต้หลักธรรมาภิบาล 4 ด้าน คือ ความโปร่งใส การถ่วงดุล การรักษาความมั่นคงของระบบการคลัง และความคล่องตัว รัฐบาลต้องระมัดระวัง พิจารณาระหว่างผลดี ผลเสียที่จะต้องกู้เงิน 500,000 ล้านบาท ในขณะที่ตัวทวีคูณทางการคลังมีเพียง 0.4 การกู้เงินจึงเป็นการสร้างภาระหนี้แก่รัฐบาลและประชาชนในระยะยาว ซึ่งจะต้องตั้งงบฯ ในการชำระหนี้ 4-5 ปี กระทบต่อตัวเลขการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ

4.การดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ครม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณาประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมายอย่างรอบคอบ ประกอบด้วย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 172 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 53 พ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 4 มาตรา 5 และมาตรา 6 พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ. 2501ตลอดจนกฎหมาย คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินโครงการเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นไปตามกฎหมาย 

5. ครม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรประเมินความเสี่ยงในการดำเนินโครงการนี้อย่างรอบด้าน กำหนดแนวทางหรือมาตรการในการบริหารความเสี่ยง และการป้องกันการทุจริต มีกระบวนการตรวจสอบทั้งก่อน ระหว่าง และหลังจากการดำเนินโครงการ ซึ่งอาจนำข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. เรื่อง การบูรณาการป้องกันการทุจริตของโครงการภาครัฐ ซึ่ง ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการ เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2553 มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการได้อย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน และประเทศชาติอย่างแท้จริง

6. ในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน มาใช้กับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ครม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณาถึงความจำเป็นและความเหมาะสม ระยะเวลา และงบฯ ที่ต้องใช้ในการพัฒนาระบบ ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ซึ่งเป็นการแจกเงินเพียงครั้งเดียว ให้ใช้จ่ายภายใน 6 เดือน

7. จากข้อมูลภาวะเศรษฐกิจของหน่วยงานต่างๆ ที่ได้จากการศึกษา และตัวทวีคูณทางการคลัง รวมถึงตัวบ่งชี้ภาวะวิกฤติที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้รวบรวมและประมวลข้อมูลจากงานศึกษาของธนาคารโลกและ IMF เห็นตรงกันว่า ในช่วงเวลาที่ศึกษาอัตราความเจริญเติบโตของประเทศไทย ยังไม่ถึงขั้นประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ เพียงแต่ชะลอตัวเท่านั้น ดังนั้น ในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน รัฐบาลควรพิจารณาและให้ความสำคัญต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เช่น การกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน กระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ เพิ่มทักษะให้แก่แรงงาน เป็นต้น

8. หากรัฐบาลจำเป็นต้องการช่วยเหลือประชาชน รัฐบาลควรช่วยเหลือกลุ่มประชาชนที่มีฐานะยากจน ที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนที่เปราะบาง ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เท่านั้น โดยแจกจากแหล่งเงินงบฯ ปกติ มิใช่เงินกู้ ตาม พ.ร.บ.เงินกู้ และจ่ายในรูปเงินบาทปกติในอัตราที่เหมาะสม เพื่อพยุงการดำรงชีวิตของกลุ่มประชาชนยากจน โดยจ่ายเงินเป็นงวดๆ ผ่านแอปเป๋าตังที่มีประสิทธิภาพ และมีฐานข้อมูลครบสามารถทำได้รวดเร็ว ทั้งนี้ การใช้งบฯ ปกติ ไม่ใช่จากการกู้เงินตาม พ.ร.บ.เงินกู้ จะลดความเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ ขัด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 และ พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ. 2501 ที่สำคัญคือ ไม่สร้างภาระหนี้สาธารณะของประเทศในระยะยาว.