“เศษธูป ก้านธูป” หรือแม้แต่ธูปที่เผาไหม้ไม่หมดเป็นหนึ่งในวัสดุเหลือใช้ที่ silo@ssru ศูนย์วัสดุสร้างสรรค์เพื่อความยั่งยืน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา นำกลับมาใช้ประโยชน์ แปรรูป ดีไซน์ขึ้นรูปเป็นรูปปั้นเล็กๆ สร้างสรรค์พวงกุญแจที่มีความมงคล ฯลฯ ไอเดียลดปริมาณขยะ ลดภาวะมลพิษ ทั้งต่อยอดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับบริบทชุมชน สร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างวิถีใหม่ของสิ่งไร้มูลค่า

ผศ.นภดล สังวาลเพ็ชร ผู้อำนวยการศูนย์วัสดุฯ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาให้มุมมอง เล่าถึงแนวคิดดังกล่าวว่า เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ Bangkok Design Week 2024 ที่ผ่านมาเป็นอีกหนึ่งปีที่นำเสนอไอเดียนี้ โดยที่ผ่านมามีกิจกรรมที่ศาลเจ้าหลีตี้เมี้ยว จัดกิจกรรมเวิร์กช็อปให้กับทุกคนเข้าร่วม และอีกพื้นที่ จรัญฯ 91 ร่วมจัดการขยะในชุมชน โดยทั้งสองพื้นที่มีคอนเซปต์ Waste life วิถีใหม่ของสิ่งไร้ค่า นำสิ่งที่ไร้ค่ากลับมาเพิ่มมูลค่า

“ผงธูป ก้านธูป ฯลฯ เหลือใช้ที่นำกลับมาสร้างประโยชน์ แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ครั้งนี้ จากที่กล่าวมีความต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาซึ่งนำเสนอผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้ในศาสนสถานย่านเยาวราช  นำความเชื่อความมงคล นำสิ่งเหลือใช้กลับมาสร้างประโยชน์อย่างคุ้มค่า โดยจากการศึกษาวัสดุ ก้านธูป สามารถนำกลับไปแปรรูปเป็นกระดาษได้ ขณะที่ ผงธูป ที่เผาไหม้ไม่หมดซึ่งมีส่วนผสมของยางจากธรรมชาติ มีกาวอยู่ เมื่อนำมาทดลองละลายนํ้า ปั้นขึ้นรูปพบว่า สามารถคงรูปได้ดี ฯลฯ โดยทั้งหมดนี้นำกลับมาใช้ใหม่ นำมาเพิ่มมูลค่าสร้างสรรค์เป็นของที่ระลึกมงคล เป็นรูปปั้นเล็กๆ พวงกุญแจ  เชิงเทียนที่หล่อขึ้นรูปจากผงธูป ฯลฯ”

ผศ.นภดลอธิบายอีกว่า ผงธูป ก้านธูปหากกำจัดไม่ดีจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ จึงนำมาออกแบบสร้างสรรค์ใหม่ ทั้งนี้จากการลงพื้นที่และศึกษาพบว่า เศษธูปจากศาลเจ้ามักถูกขอนำไปเป็นสิริมงคลจึงได้ไอเดียนำผงธูปมาเป็นส่วนผสมทำเป็นวัสดุ ผงธูปของเหลือใช้เหล่านี้อาจนำไปต่อยอดเป็นวัสดุใหม่ๆ ทั้งนี้เศษผงธูปในศาสนสถานต่างๆ มีอยู่ไม่น้อย และจากการศึกษาทำงานกับศาลเจ้าที่นี่พบว่า ธูปที่เหลือทิ้งจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ขี้เถ้าธูปในกระถางธูป 

อีกส่วนหนึ่งคือ ธูปที่เผาไหม้ไม่หมด โดยหากจุดมากเกินไปจะเกิดเป็นเปลวไฟซึ่งจะต้องดับทำให้เหลือก้านธูปที่ยังใช้งานไม่หมด และอีกส่วนหนึ่งคือ ก้านธูป ทั้งนี้เมื่อนำทั้งสามส่วนมาหากระบวนการเพื่อแปรรูป โดยการนำมาใช้ ใช้ทั้งหมดไม่มีเศษเหลือทิ้งไว้ อย่างครั้งนี้ที่ออกแบบเป็นคาแรกเตอร์ รูปมังกร รูปสิงโต นำความเชื่อเกี่ยวกับผงธูป ความเป็นมงคลเข้ามาบวกรวม  ทั้งนำมาสร้างสรรค์ดีไซน์เป็นของตกแต่ง สร้างสรรค์วิถีใหม่ของสิ่งไร้มูลค่า ให้มีคุณค่า

อีกพื้นที่เป็นเรื่อง การจัดการขยะในชุมชน โดยร่วมกับพื้นที่ที่มีการดำเนินการเรื่องนี้อยู่แล้ว จากการสำรวจ และศึกษาพบว่า ขยะที่เป็นเศษเหลือทิ้งมากสุดคือ พลาสติก ถุงขนม ถุงวิบวับ ฯลฯ จึงนำมาเป็นโจทย์ให้กับนักศึกษา ทดลองสร้างสรรค์ โดยจะมีการแปรรูปด้วยกระบวนการง่าย ๆ ได้อย่างไร กระบวนการพื้นฐานที่ใช้วัสดุใกล้ตัว หรือไม่ต้องใช้วัสดุอุปกรณ์มาก เพื่อถ่ายทอดความรู้การจัดการขยะลงสู่ชุมชน ซึ่งในโครงการนี้ใช้กระบวนการแปรรูปด้วยความร้อน ใช้เตารีดมารีด เทียน ฯลฯ เป็นวิธีที่ทำได้ง่าย

โดยวัสดุจะหลอมละลายเป็นแผ่น ซึ่งสามารถนำมาออกแบบเป็นคาแรกเตอร์ สร้างสรรค์เป็นพวงกุญแจ ของตกแต่ง ฯลฯ อีกทั้งใช้การม้วน พับ หรือสอดขัดกันโดยไม่ใช่วัสดุอื่นๆ ร่วมเพิ่มมูลค่า ฯลฯ เป็นอีกวิธีจัดการขยะ ลดปริมาณขยะ ทั้งนี้หากคัดแยกขยะนับแต่ต้นทางยังส่งผลต่อการนำไปรีไซเคิล ส่งขยะไปยังปลายทางสมบูรณ์ยิ่งขึ้น.