เมื่อวันที่ 4 มี.ค. นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ได้ยื่นข้อเสนอประเด็นปัญหาเขตพื้นที่ปฏิรูปที่ดินทับพื้นที่ป่า ต่อนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนในเขตป่า ระหว่างกระทรวงทรัพยากรฯ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ทำเนียบรัฐบาลในวันนี้ โดยประเด็นที่ 1 ขอให้แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ข้อแรกระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร ซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร พ.ศ.2535 ข้อ 11 ให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดประกาศผลการคัดเลือกเกษตรกรโดยมีแผนผังการจัดแบ่งแปลงที่ดินซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมได้ให้ความเห็นชอบ

‘ทส.-เกษตรฯ’ สงบศึกพิพาท ส.ป.ก. ตั้งคณะรวม 9 หน่วยงาน ชง อนุวันแม็พชี้ขาด

นายชัยวัฒน์ เผยอีกว่า ต่อมาได้มีการแก้ไขเป็นระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอนหรือการตกทอด ทางมรดก สิทธิการเช่าหรือการเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน พ.ศ.2564 จากเดิม โดยใช้ความว่า ข้อ 11 การคัดเลือกและการจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรตามระเบียบนี้เป็นอำนาจของเลขาธิการหรือผู้ซึ่งเลขาธิการมอบหมาย ซึ่งการกำหนดระเบียบในการพิจารณาการจัดสรรที่ดินให้แก่เกษตรกรโดยให้อำนาจของเลขาธิการหรือผู้ซึ่งเลขาธิการมอบหมายแต่เพียงผู้เดียว อาจเป็นเหตุให้เกิดการใช้ดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขาดการถ่วงดุลและตรวจสอบ จึงเห็นควรให้มีการแก้ไขโดยให้อำนาจการพิจารณาการจัดสรรที่ดินให้แก่เกษตรกรเป็นอำนาจของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดตามเดิม

นายชัยวัฒน์ เผยว่า ข้อสอง แก้ไขระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตร การโอนหรือตกทอด ทางมรดก สิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน พ.ศ.2564 ข้อ 55 เนื่องจากการจัดที่ดินหรือแผนผังแปลงที่ดินโดยใช้อำนาจพิจารณาข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์เพียงอย่างเดียว และไม่ได้ลงสำรวจพื้นที่จริง อีกทั้งยังไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูลพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานฯ ทั้งนี้เห็นควรให้มีการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลของกรมอุทยานฯ และร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบที่ดินให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน ข้อสาม กรณี ออก ส.ป.ก. 4-01 ในพื้นที่คาบเกี่ยว แนวกันชน หรือพื้นที่ติดประชิดกัน (Buffer Zone) ให้เพิ่มเติมหน่วยงานที่ดูแลที่ดินของรัฐ เป็นคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินระดับจังหวัด และคณะอนุกรรมการปฏิรูปที่ดินอำเภอ เพื่อร่วมระวังชี้แนวเขตและลงชื่อรับรองหรือคัดค้านการรังวัดในวันที่เข้าสำรวจที่ดิน ก่อนที่จะมีการออก ส.ป.ก.4-01

นายชัยวัฒน์ ระบุว่า ประเด็น 2 กรณีการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 ทับในพื้นที่ป่า 1.กรณีทับในพื้นที่ทำกินของราษฎรตามมาตรา 64 แห่งพ.ร.บ.อุทยานฯ 2562 หรือมาตรา 121 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 ให้ยกเลิกการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 แล้วส่งมอบพื้นที่ดังกล่าวให้กรมอุทยานฯ รับผิดชอบจัดทำแนวเขตเพื่อตราเป็นพระราชกฤษฎีกาต่อไป 2.กรณีทับพื้นที่ที่มีสภาพเป็นป่าอนุรักษ์ หรือป่าตามมาตรา 4 พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 หรือพื้นที่ที่มีความลาดชันเกิน 35 เปอร์เซ็นต์ ให้ยกเลิกการออก ส.ป.ก.4-01 เนื่องจากถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ป่าตามนโยบายป่าไม้แห่งชาติข้อ 17 จึงไม่สามารถออกเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ 3.กรณีทับพื้นทางน้ำ หรือลำรางสาธารณะให้ยกเลิกการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 เพื่อเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์สำหรับประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน

ผอ.สำนักอุทยานฯ กล่าวอีกว่า ประเด็นที่ 3 พื้นที่ห้ามดำเนินการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 1.ห้ามนำพื้นที่แนวเชื่อมต่อระหว่างกลุ่มป่า (Corridors)ไปออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 เพื่อให้เป็นจุดพักการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่า และรักษาความเชื่อมโยงทางธรรมชาติของระบบนิเวศให้เป็นกลุ่มป่า 2.ห้ามนำพื้นที่การใช้ประโยชน์ของสัตว์ป่า ไปออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าโดยปลอดภัยและรักษาไว้ซึ่งสัตว์ป่า ตลอดจนคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศให้คงอยู่

“ประเด็นที่ 4 ผลการตรวจสอบในการจัดทำแผนที่โดยกรมแผนที่ทหาร 1.ห้ามนำแผนที่หรือผลการตรวจสอบแนวเขตที่ดินที่ทับซ้อนระหว่างแนวเขตอุทยานฯ กับเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งจัดทำโดยกรมแผนที่ทหาร มาใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ข้อเท็จจริง และใช้ในกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากเป็นเพียงความเห็นจากการตรวจสอบของกรมแผนที่ทหารเท่านั้น มิได้มีสถานะเป็นกฎหมายแต่อย่างใด” นายชัยวัฒน์ กล่าว