เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 6 มี.ค. 2567 ที่รัฐสภา เครือข่ายรักษ์ชุมพร-ระนอง เดินทางมายื่นหนังสือต่อ 4 ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สภาผู้แทนราษฎร ได้แก่ 1.กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ 2.กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน 3.กมธ.การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และ 4. กมธ.การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขอให้ตรวจสอบโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (โครงการแลนด์บริดจ์) ระนอง-ชุมพร

โดยตัวแทนเครือข่ายรักษ์ชุมพร-ระนอง กล่าวว่า การมายื่นหนังสือต่อ กมธ. ทั้ง 4 คณะ เพื่อให้มีการตรวจสอบหลายมิติ โดยมีข้อสังเกตสำคัญ ที่ต้องการจะนำเสนอให้ กมธ. ทั้ง 4 คณะ ดังนี้ 1. กระบวนการศึกษาที่ผ่านมาถือว่าด้อยมาตรฐานทางวิชาการ และไม่เคารพการมีส่วนร่วมของประชาชน 2. เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องประกอบด้วยโครงการย่อยอีกหลายโครงการ แต่กลับไม่มีการศึกษาผลกระทบและผลสัมฤทธิ์ในภาพรวม ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และด้านสุขภาพ กลับพบว่าเป็นการแยกกันศึกษาเป็นรายโครงการย่อยที่ต่างคนต่างทำ 3. นายกรัฐมนตรีต้องคำนึงถึงศักยภาพการพัฒนา จ.ระนอง ชุมพร และภาคใต้ในมิติอื่นๆ ด้วย 4. โครงการนี้กำลังทำร้ายความมั่นคงในชีวิต ทรัพย์สิน และความมั่นคงในแหล่งอาหาร และฐานทรัพยากรในชุมชนท้องถิ่น เพราะต้องใช้พื้นที่จำนวนมาก เพื่อการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย และพื้นที่สำหรับสร้างเส้นทางรถไฟและมอเตอร์เวย์ตลอดเส้นทางกว่า 90 กิโลเมตร ยังไม่นับรวมพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นการล่มสลายของชุมชนดั้งเดิม ที่หมายถึงฐานรากสำคัญของสังคมไทย

ตัวแทนเครือข่ายฯ กล่าวด้วยว่า จึงขอเสนอให้ให้ กมธ. ทั้ง 4 คณะ ติดตามตรวจสอบการดำเนินของโครงการฯ ดังนี้ 1. โครงการนี้กำลังแอบอ้าง ’ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี‘ หรือไม่ 2. โครงการฯ นี้เข้าข่ายบ่อนทำลายความมั่นคงแห่งรัฐ และเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนต่างชาติหรือไม่ ด้วยเพราะมีการกล่าวอ้างสร้างวาทกรรมและความเชื่อว่า จะสร้างความเจริญ สร้างงาน และการพัฒนาที่จะสร้างรายได้ให้กับประชาชนภาคใต้ อันจะเป็นประโยชน์กับประชาชนโดยรวมของประเทศต่อไป ทั้งที่ไม่มีการประเมินความเสียหายในมิติอื่นๆ อย่างเช่นด้านสังคม วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่จะต้องแลก พร้อมกับการเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ด้วยการให้ประเทศต่างชาติที่เข้ามาลงทุนได้สิทธิในการสัมปทานพื้นที่โครงการทั้งหมดหลายสิบปี

ด้านนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธาน กมธ.ความมั่นคงฯ กล่าวว่า การที่รัฐบาลจะมีนโยบายอะไรก็ตาม การมีส่วนร่วมของประชาชนถือเป็นสิ่งสำคัญ ควรให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น เพราะเขาต้องอยู่ที่นี่ นายกฯ ไม่ได้อยู่ที่ภาคใต้ อยู่แต่ใน กทม. แต่คนที่ต้องแบกรับผลกระทบที่เกิดขึ้นคือประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ตนจึงสนับสนุนให้มีการพูดคุยใน กมธ. และคิดว่าเสียงของประชาชนต้องดังไปถึงผู้มีอำนาจตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีการยื่นเรื่องให้กับ 4 กมธ. เราคงต้องมีการหารือกันว่า จะให้ กมธ.ชุดไหน จะเป็นเจ้าภาพหลักในการพิจารณา