กรณี นายอริณชย์ หรือน้องอิน ทองแตง อายุ 16 ปี และ ด.ญ.อริสา หรือน้องเอม ทองแตง อายุ 14 ปีสองพี่น้องหัวใจนักอนุรักษ์ ร่วมกันทำโครงการชื่อ Below the Tides: Zero Starving Sea Turtles (อิ่มท้องน้องเต่า) โดยการเชิญชวนพี่ๆ น้องๆ ทุกคนร่วมกันอนุบาลลูกเต่าทะเล เพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของเต่าทะเลจาก 0.1% กรณีที่ปล่อยไปตามธรรมชาติให้สูงขึ้นถึง 70% ปัจจัยหลักในการมีชีวิตรอดคือไม่ตกเป็นเหยื่อสัตว์นักล่าอื่นๆ ซึ่งโอกาสรอดจะอยู่ที่ขนาดและน้ำหนักที่เหมาะสมของลูกเต่าทะเล ซึ่งน้ำหนักต้องไม่ต่ำกว่า 2 กิโลกรัม และความยาวไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตร ขณะปล่อยคืนสู่ท้องทะเล ตามที่ได้เสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

เสี่ยงสูญพันธุ์! 2 พี่น้องหัวใจนักอนุรักษ์ผุดโครงการระดมทุนช่วยเต่าทะเล

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสิ่งแวดล้อม พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รอง นายกรัฐมนตรี และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.)เป็นประธานการแถลงข่าว “การดำเนินโครงการนักเรียน นักศึกษา ช่วยปฏิบัติงานอุทยานแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567” เลิร์น-ดู-แชร์ (Learn-Do-Share) เป็นสักขีพยานในการรับมอบเงินทุนจากกลุ่ม Below the Tides ที่ระดมทุนช่วยเหลือเต่าทะเลผ่านแพลตฟอร์มเทใจดอทคอม ให้กับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นเงิน 600,000 บาท

เปิดใจสองพี่น้องหัวใจนักอนุรักษ์ เจ้าของโครงการ ‘อิ่มท้องน้องเต่า’

โดยมี ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วย รัฐมนตรีประจำกระทรวงฯ นายนพดล พลเสน เลขานุการ รมว.ทส. นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงฯ โฆษกประจำกระทรวงฯ ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รอง คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดจนคณะผู้บริหาร ทส. และสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน โดยในช่วงท้ายของการแถลงข่าว พล.ต.อ.พัชรวาท ยังได้มอบหนังสือเดินทางท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติ (Passport to Thailand National parks) ให้แก่สื่อมวลชนและผู้เข้าร่วมงาน เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติอีกด้วย

พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า สอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญทางด้านการศึกษา ส่งเสริมการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมถึงเสริมสร้างศักยภาพของเยาวชน ให้เกิดจิตสำนึกในการรักสิ่งแวดล้อม ดูแลรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ กิจกรรมภายใต้โครงการนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนที่กำลังศึกษาได้อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ เกิดความรู้สึกซาบซึ้ง และเห็นถึงคุณค่าความสำคัญของป่าอนุรักษ์ ผ่านการปฏิบัติงานในพื้นที่ที่หลากหลายตามความเหมาะสม

สำหรับในปี พ.ศ. 2567 นี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำงานร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้ ลงมือปฏิบัติ และถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และการลดภาวะโลกเดือด ผ่านกิจกรรมพิเศษ เลิร์น-ดู-แชร์ (Learn-Do-Share) ที่ให้ความสำคัญกับการนำความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมไปใช้ในชีวิตประจำวัน และเป็นสื่อกลางเผยแพร่เรื่องราวไปสู่สังคมโดยรอบต่อไป