ทั้งนี้พาส่อง การจัดการขยะ มหาวิทยาลัยมหิดล การเพิ่มมูลค่าขยะ คัดแยกเพื่อการหมุนเวียน ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า กระทั่งเศษใบไม้ที่หล่นร่วง 

การบริหารจัดการขยะ ลดปริมาณขยะในมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา “โครงการธนาคารขยะรีไซเคิล” เป็นหนึ่งในโครงการที่ดำเนินการมายาวนานกว่า 10 ปีที่สร้างความตระหนักการคัดแยกขยะ สร้างการมีส่วนร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมยั่งยืน โดยที่ผ่านมาโครงการฯขยายองค์ความรู้สู่ชุมชนและโรงเรียนโดยรอบมหาวิทยาลัย ทั้งนี้นำเรื่องน่ารู้การคัดแยกขยะ ลดปริมาณขยะ โดย วรพจน์ เฉลิมกลิ่น นักวิชาการเกษตร กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดลให้ความรู้ว่า ปัญหาขยะเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญ การจัดการขยะภายในมหาวิทยาลัยจะมีเทศบาลเข้ามาจัดเก็บ แต่ระหว่างการรอเก็บจะมีปัญหาเรื่องกลิ่น สุนัขขุดคุ้ยขยะ ฯลฯ อีกทั้งถ้ามองในองค์ประกอบขยะพบการทิ้งขยะเปียก แก้ว กระป๋อง กระดาษ ฯลฯ ทุกประเภทปะปนรวมกัน

หากนำมาแยกจะพบว่ามีขยะที่สามารถนำมารีไซเคิล จัดการให้เกิดประโยชน์ต่อไปได้ จึงรณรงค์ทุกหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยร่วมกันคัดแยกขยะจากต้นทาง ขยะรีไซเคิลสามารถนำมาขายให้กับธนาคารขยะรีไซเคิล โดยธนาคารฯเป็นตัวกลาง รวบรวมจัดส่งสู่การรีไซเคิล 

“การคัดแยกขยะจัดเก็บอย่างถูกวิธีนำมาซึ่งความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นในด้านสิ่งแวดล้อม หรือความสะอาดของพื้นที่ ทั้งยังปลูกสร้างพื้นฐานการคัดแยกขยะส่งต่อรุ่นต่อรุ่น รวมถึงช่วยการจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสิ่งไหนที่นำกลับไปรีไซเคิล นำกลับไปใช้ประโยชน์ได้ก็จะไปถึงจุดหมาย ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม”    

การคัดแยกขยะ ขยะเปลี่ยนยังเป็นเงิน อย่างเช่น ประเภทอะลูมิเนียมหนึ่งในขยะที่มีราคา ขณะที่ กลุ่มกระดาษ กระดาษขาว-ดำ กระดาษสมุด หนังสือเล่ม และลังกระดาษก็มีราคา รวมถึงกลุ่มขวดพลาสติก ฯลฯ การคัดแยกประเภทขยะนับแต่ต้นทาง นอกจากทำให้เห็นถึงมูลค่า ยังช่วยการจัดการขยะปลายทางได้ดียิ่งขึ้น โดยแนวคิดการคัดแยก การจัดการขยะจากที่กล่าวขับเคลื่อนส่งต่อความรู้ต่อไปยังชุมชน และอีกหลายโรงเรียนโดยรอบมหาวิทยาลัย ส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม รู้จักกับขยะที่สามารถนำกลับมาใช้หมุนเวียน

นักวิชาการเกษตร กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม คุณวรพจน์ อธิบายอีกว่า การคัดแยกขยะก่อนทิ้ง เป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันและให้ความสำคัญ ปัจจุบันมีถังขยะแบ่งประเภท หรือการจัดการขยะในบ้าน สามารถจัดเก็บเป็นระบบ กระป๋อง ขวดพลาสติก หรือกระดาษ ฯลฯ แยกเป็นประเภท ซึ่งการคัดแยกขยะส่งผลที่ดีต่อไปยังปลายทาง 

นอกจากนี้ ขยะอาหาร เศษใบไม้ เศษพืช เรายังนำมาทำ ปุ๋ยหมัก โดยเฉพาะเศษใบไม้ที่มีจำนวนมากในมหาวิทยาลัยนำกลับมาใช้ประโยชน์ ลดการเผาทำลายเกิดมลพิษ เกิดเปลวไฟ ทั้งลดต้นทุนการดูแลรักษาสภาพแวดล้อม โดยเศษใบไม้โดยรอบมหาวิทยาลัยที่ผ่านมาผลิตปุ๋ยช่วยการจัดการปัญหาใบไม้ ทั้งสร้างรายได้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ปุ๋ยหมักจำหน่ายและนำกลับคืนกลับมาบำรุงดูแลต้นไม้ ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า ฯลฯ โดยส่วนหนึ่งนี้เริ่มขึ้นจากการคัดแยกขยะจากต้นทาง แยกประเภทก่อนทิ้งเพื่อเกิดการหมุนเวียน นำกลับมาใช้ประโยชน์ต่ออย่างคุ้มค่า.

นายนกฮูก.