สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ว่า สถาบันโลวี พบว่า นับตั้งแต่ปี 2558 เงินมากกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.8 ล้านล้านบาท) ที่รัฐบาลปักกิ่งให้สัญญาไว้กับโครงการต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่เคยได้รับการจัดสรร อีกทั้งโครงการมากกว่าครึ่งหนึ่งยังถูกยกเลิก ลดขนาด หรือไม่น่าจะดำเนินการต่อได้

อนึ่ง รัฐบาลปักกิ่งอัดฉีดเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคอื่น ๆ ผ่านแผนริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (บีอาร์ไอ) เพื่อพยายามขยายอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน กล่าวว่า แผนริเริ่มที่สำคัญนี้ จะส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลก พร้อมกับให้คำมั่นว่าจะใช้มันเพื่อ “ทำให้ทุกประเทศในโลกทันสมัย”

อย่างไรก็ตาม นายอเล็กซานเดอร์ ดายานต์ และนางเกรซ สแตนโฮป นักวิจัยจากสถาบันโลวี กล่าวว่า ความไม่มั่นคงทางการเมือง, การมีส่วนร่วมที่ไม่ดีกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในท้องถิ่น และความสนใจในโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ลดลง เป็นสิ่งที่ขัดขวางแผนการของจีน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้ ทั้งสองคนยังพบว่า จีนลดการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างมีนัยสำคัญ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และให้ความสำคัญกับการให้เงินทุนกับโครงการขนาดเล็กแทน

แม้จีนยังคงเป็นหุ้นส่วนด้านโครงสร้างพื้นฐานรายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการขนาดใหญ่ 24 โครงการ จากทั้งหมด 34 โครงการในภูมิภาค แต่สถาบันโลวีพบว่า 24 โครงการดังกล่าว มีอัตราความสำเร็จอยู่ที่ 33%

“มันมีความตั้งใจอย่างชัดเจนในระดับสูงสุดที่จีนจะรักษาบีอาร์ไอ ซึ่งมีความยั่งยืน และตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป” นักวิจัยทั้งสองคน กล่าวทิ้งท้าย.

เครดิตภาพ : AFP