สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ว่า นายเยอร์เกน สต็อก เลขาธิการอินเตอร์โพล กล่าวในการบรรยายสรุปที่สำนักงานในสิงคโปร์ว่า องค์กรอาชญากรรมหลายแห่ง ได้รับแรงบันดาลใจจากโมเดลธุรกิจแบบใหม่ รวมถึงได้รับแรงหนุนจากการไม่เปิดเผยตัวตนในโลกออนไลน์ และการระบาดใหญ่ จนในปัจจุบัน กลุ่มเหล่านี้กำลังดำเนินงานในระดับที่ไม่สามารถจินตนาการได้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว

“องค์กรเหล่านี้ ซึ่งเริ่มต้นจากการเป็นภัยคุกคามทางอาชญากรรมระดับภูมิภาค ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลายเป็นวิกฤติการค้ามนุษย์ระดับโลก โดยมีผู้ตกเป็นเหยื่อหลายล้านคน” สต็อก กล่าวเพิ่มเติม

เมื่อปีที่แล้ว สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า มีผู้คนมากกว่า 100,000 คน ถูกหลอกให้ทำงานที่ศูนย์หลอกลวงทางออนไลน์ในกัมพูชา อีกทั้งในเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ทางการเมียนมา ได้ส่งตัวผู้ต้องสงสัยฉ้อโกงโทรคมนาคมจำนวนหลายพันคน ให้กับทางการจีนด้วย

ขณะเดียวกัน การสืบสวนของสำนักข่าวรอยเตอร์ส ในปี 2566 ยังให้รายละเอียดเกี่ยวกับองค์กรสาขาหนึ่ง ซึ่งถูกกล่าวหาก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ และการจัดหาเงินทุน ในประเทศไทยเช่นกัน

ทั้งนี้ สต็อกชื่นชมสิงคโปร์ สำหรับความสำเร็จในการเปิดโปงคดีฟอกเงินเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการยึดทรัพย์สินมูลค่ารวมมากกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 110,000 ล้านบาท)

“อย่างไรก็ตาม เราพบว่ากลุ่มต่าง ๆ กระจายธุรกิจอาชญากรรมอย่างชัดเจน โดยใช้เส้นทางการค้ายาเสพติด รวมถึงการค้ามนุษย์, อาวุธ, ทรัพย์สินทางปัญญา, สินค้าที่ถูกขโมย และการโจรกรรมรถยนต์” สต็อก กล่าวทิ้งท้าย.

เครดิตภาพ : AFP