เมื่อวันที่ 3 เม.ย. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พล.ต.ต.วีรพัฒน์ ศิวะแพทย์ รองผู้บัญชาการสยศ.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และนพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันแถลงข่าว ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ”

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า รัฐบาลประกาศให้จัดกิจกรรม “มหาสงกรานต์ World Songkran Festival” ตั้งแต่วันที่ 1-21 เม.ย.2567 รวม 21 วัน ร้อมประกาศวันหยุดราชการช่วงเทศกาลสงกรานต์ตั้งแต่วันที่ 12 – 16 เม.ย.2567 ซึ่งคาดว่าจะมีการใช้รถใช้ถนนมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์อำนวยการความปลอดภัยถนน (ศปถ.) จึงประกาศดำเนินงานเข้มข้นเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วง 7 วัน ระหว่างวันที่ 11- 17 เม.ย.นี้ ตั้งเป้าลดอุบัติเหตุทางถนนลงครึ่งหนึ่งจากเทศกาลสงกรานต์ปี 2566 ซึ่งมีอุบัติเหตุทางถนน 2,203 ครั้ง เสียชีวิต 264 ราย บาดเจ็บรุนแรง 2,208 ราย จากการขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ ตัดหน้ากระชั้นชิด พบแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกำหนด 33.53% ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือ รถจักรยานยนต์ 80.46% ผู้บาดเจ็บ เสียชีวิตกว่า 90%ไม่ได้สวมหมวกนิรภัย ดังนั้นขอให้ทุกคนขับขี่ปลอดภัย สวมหมวกนิรภัย คาดเข็มขัดนิรภัย กรณีมีเด็กร่วมเดินทางควรจัดที่นั่งนิรภัย (Car Seat) สำหรับเด็กด้วย ขอให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยว กลับภูมิลำเนาอย่างปลอดภัย หากเกิดเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตถึงชีวิต สามารถใช้สิทธิ UCEP ได้ในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทั้งของรัฐหรือเอกชน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย จนพ้นวิกฤตหรือสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย

นพ.โอภาส กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ทั้งที่ส่วนกลางและระดับจังหวัด เพื่อประสานและสนับสนุนการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาล ประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดชุดปฏิบัติการฉุกเฉินลงรองรับ ,เตรียมความพร้อมหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (EMS) ทั้งภาครัฐและเอกชนทุกระดับ ทั้งทางอากาศและทางเรือ สำหรับโรงพยาบาล ให้เตรียมบุคลากรและอุปกรณ์ต่างๆ โดยเฉพาะห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องไอซียู ระบบส่งต่อไว้รองรับ ตลอด 24 ชั่วโมงซึ่งปีที่ผ่านมามีผู้บาดเจ็บเข้ารพ.เฉลี่ย 3,500 รายต่อวัน นอกจากนี้ยังให้การเจาะเลือดผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุที่ไม่สามารถเป่าลมหายใจผ่านเครื่องตรวจได้ ตามการร้องขอของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และบูรณาการการบำบัดรักษาฟื้นฟูสภาพผู้ถูกคุมประพฤติฐานขับรถในขณะเมาสุรากับหน่วยบริการของโรงพยาบาล

นพ.ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบโรค กล่าวว่า ปัญหาการดื่มแล้วขับยังไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลง พบการขายในสถานที่และเวลาห้ามขาย ปีนี้จึงย้ำให้สสจ.ออกออกตรวจเตือน ประชาสัมพันธ์บังคับใช้กฎหมายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในช่วงก่อนสงกรานต์ ส่วนช่วงเทศกาล ให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ทั้ง 12 เขต สุ่มตรวจการกระทำผิดกฎหมาย ทั้งการขายสุราในสถานที่ห้ามขาย สำรวจร้านค้าในชุมชนที่ขายสุราในเวลาห้ามขาย และให้สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จัดทีมเจ้าหน้าที่ออกตรวจเตือน จับผู้ทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะกรณีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และมีการดื่มสุรา จะส่งข้อมูลตำรวจสอบสวนดำเนินคดีไปถึงผู้ขาย ทั้งนี้ขอความร่วมมือญาติๆ ห้ามปรามไม่ให้มีการดื่มแล้วจับ แม้ระยะทางไกล้ๆ และขอความร่วมมือร้านถ้า สถานบันเทิงจัดร่วมคัดกีองนักท่องเที่ยวไม่ให้ขับรถโดยจัดหารถสาธารณะหรือผู้ขับขี่แทน

ด้าน นายสหรัฐ กล่าวว่า  5 มาตรการที่มีการช่วงคุมเข้ม  11-17 เม.ย.นี้คือ 1.บริหารจัดการตั้งศูนย์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ตั้งด่านชุมชนในการสกัดกั้นลดพฤติกรรมเสี่ยง จัดโซนนิ่งพื้นที่เล่นน้ำ 2.ลดปัจจัยเสี่ยงเรื่องถนน แก้ไขจุดเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ 3.ลดปัจจัยเสี่ยงยานพาหนะ ตรวจสอบรถขนส่ง รถโดยสารสาธารณะ พนักงานขับรถ รณรงค์ให้ตรวจสภาพรถก่อนเดินทาง 4. มีการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดกรณีเกิดอุบัติเหตุทุกราย และ 5.ช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งสธ.มีการเตรียมควมพร้อมด้วยดี

ขณะที่ พล.ต.ต.วีรพัฒน์ กล่าวว่า เราจะเพิ่มความเข้มในการบังคับใช้กฎหมาย มุ่งเน้นการลดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะขับรถเร็วไม่สวมหมวก เมาแล้วขับ ไม่คาดเข็มขัด นิรภัย ความเร็ว และ ขับรถย้อนศร ,ชุดเคลื่อนที่เร็วปฏิบัติร่วมกับผู้นำชุมชน / ภาคีมาตรการป้องกันหรือตักเตือนก่อนกระทำผิด ,มาตรการการตั้งจุดตรวจ โดยให้เปลี่ยนย้ายจุดในแต่ละวัน รวมถึงเน้นย้ำการบังคับใช้ พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรณีเกิดอุบัติให้ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ทุกราย ตรวจสอบประวัติต้องโทษ เพื่อตรวจสอบประวัติการกระทำความผิดประกอบการเพิ่มโทษ ก่อนส่งพนักงานอัยการทุกครั้ง รวมถึงการสอบสวนขยายผล หากเมาแล้วขับอายุต่ำกว่า 20 ปีจะต้องขยายผลดำเนินคดีกับผู้ขาย ส่วนผู้ขับรถในขณะเมาสุรา อายุต่ำกว่า 18 ปี ให้สอบสวนขยายผลดำเนินคดีกับบุคคลที่ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอม ให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือบุคคลที่จำหน่ายหรือให้สุราแก่เด็กอย่างเข้มงวด.