วันที่ 3เม.ย.2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ตามที่นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และคณะจำนวน 98 คน เป็นผู้เสนอ 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ  รมว.คมนาคม ลุกขึ้นชี้แจง เรื่องโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงซึ่งเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของกระทรวงคมนาคม  โดยชี้แจงความเป็นมาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นโครงการที่เกิดขึ้นตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน และตัวเองพึ่งมารับตำแหน่งในช่วงเดือนก.ย.66 และได้ติดตามผลักดันโครงการนี้ให้เกิดขึ้นภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมพื้นพื้นที่อีอีซี หากโครงการดำเนินการแล้วเสร็จจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค จะเป็นการดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุน  โดยโครงการนี้ใช้เส้นทางขนส่งแอร์พอร์ตลิ้งก์ ที่ให้บริการในปัจจุบัน โดยจะก่อสร้างทางรถไฟสแตนดาร์ดเกรด มีส่วนต่อขยายสองช่วง จากสถานีพญาไทไปยังสนามบินสนามบินดอนเมือง และจากสถานีลาดกระบังไปสนามบินสนามบินอู่ตะเภา และเชื่อมเข้าสู่สนามบินสนามบินโดยใช้เขตทางเดินของรถไฟเป็นส่วนใหญ่ ระยะทางโครงการมีความยาวทั้งสิ้น 220 กิโลเมตร มีผู้ประกอบการเดินรถเพียงรายเดียว และเมื่อสร้างเสร็จรถไฟมีความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เชื่อมกรุงเทพกับพื้นที่อีอีซี ในระยะเวลาเดินทางไม่เกิน 1 ชั่วโมง เป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางและลดความหนาแน่นการจราจร คำถามแรกชี้เรื่องการเลื่อนโนทิส หรือหนังสือแจ้งให้เริ่มงานจากกำหนดการในปัจจุบันอีกหรือไม่ว่า ที่ผ่านมาคู่สัญญาได้ยกข้ออ้างในการขอใบอนุมัติใบขออนุญาตการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ซึ่งได้ปรึกษากับเลขาบีโอไอว่าไม่ควรให้เลื่อนเพื่อไม่ให้เอกชนนำมาเป็นข้ออ้าง

รมว.คมนาคม กล่าววว่า  ส่วนประเด็นกระทรวงคมนาคมจะแก้ไขสัญญาหรือไม่นั้น ตนขอชี้แจงว่ากระบวนการแก้ไขสัญญามี 3 ส่วน ที่เป็นองค์ประกอบของการดำเนินงาน “สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก-. การรถไฟแห่งประเทศไทย-และเอกชนผู้รับสัมปทาน” โดย รับทราบว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยได้รับมอบหมายจากรัฐบาลชุดก่อนเจรจากับคู่สัญญาซึ่งทางเอกชนขอการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การก่อสร้าง จากก่อสร้างเสร็จแล้วค่อยจ่าย เปลี่ยนเป็นสร้างไปจ่ายไป จึงขอยืนยันว่ากระทรวงคมนาคมไม่มีนโยบายการแก้ไขสัญญาเพื่อเอื้อแก่เอกชน ให้แก่คู่สัญญาอย่างแน่นอน และขอให้สภาเชื่อมั่นการบริหารงานของกระทรวงคมนาคมภายใต้การกำกับดูแล จะดำเนินการอย่างโปร่งใส และจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบได้

รมว.คมนาคม กล่าวว่า   ขอชี้แจงกรณีกระทรวงคมนาคมจะกำหนดมาตรฐานของรถไฟความเร็วสูงอย่างไรว่ามีการกำหนดมาตรฐานรถไฟความเร็วสูงเรียบร้อยแล้ว โดยการทุกเส้นทางจะดำเนินการก่อสร้างตามมาตรฐานสากลที่ใช้อยู่ในทุกประเทศที่ให้บริการรถไฟความเร็วสูง

“คิดว่าคำตอบทั้ง 3 คำถามจะสร้างความเข้าใจให้แก่สมาชิก ส่วนกรณีที่สมาชิกห่วงใยว่ากระทรวงคมนาคมจะมีนายใหญ่หรือนายทุนมาครอบงำเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนคู่สัญญานั้น  ผมขอชี้แจงว่ากระทรวงคมนาคมไม่มีนายใหญ่ ไม่มีนายทุน มีแต่นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ  รมว.คมนาคม นางมนพร เจริญศรี และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ  รมช.คมนาคมเท่านั้น” นายสุริยะ กล่าว.