“เสน่ห์” กับ “เสนียด” โยมปรารถนาสิ่งไหนมากกว่ากัน? 

เราไม่จำเป็นต้องไปลงนะหน้าทอง อย่าไปฝากชะตาชีวิตกับก้านไม้ไผ่ (เซียมซี) หมดเวลากับการบนบานศาลกล่าว จนลืมว่าบนอะไรไปบ้าง จะไปแก้ด้วยอะไร 

สายมูทั้งหลายมาทำเสน่ห์กันไหม “ธรรมเสน่ห์” ด้วยปัญญา เพราะพระพุทธศาสนามีวิธีสร้างเสน่ห์ให้คนนิยมชมชอบด้วยตัวเราเอง คือ 

1.ทาน คือ รู้จักให้ เพราะการ “ให้” ตามวิถีชาวบ้าน มี 3 ระดับ 1.ให้คนที่สูงกว่าเรา เรียกว่า บูชา 2.ให้คนเสมอกันกับเรา เรียกว่า เกื้อกูล 3.ให้คนที่ต่ำกว่าเรา เรียกว่า สงเคราะห์ การให้เกียรติ “คนที่เสมอกับเรา” นับว่าเป็นการเกื้อกูลกันในการทำงาน และควรถนอมรักษาน้ำใจกันไว้ให้ดี เพราะเราพบเจอและต้องทำงานร่วมกันบ่อย การสงเคราะห์ด้วยน้ำใจ เป็นของขวัญชิ้นใหญ่ของคนที่ต่ำกว่า 

2. ปิยวาจา คือ รู้จักใช้คำหวาน คนพูดดีมีภาษิตสร้างมิตรด้วยสัมมาวาจา พูดที่ไหนก็ทำให้ที่นั่นเกิดความสมานฉันท์ บางคนกล่าววาจาไพเราะ แต่อาจมีนัยแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ภายใน ส่วนคนไหนที่พูดจาแรงๆ ก็อย่าเพิ่งไปตัดสินว่า เขาไม่ให้เกียรติเรา เขาอาจจะรักและปรารถนาดีกับเราไม่น้อย ลักษณะคำพูด มี 3 รูปแบบ คือ 1. มธุภาณี พูดคำหวานปานน้ำผึ้ง 2. บุปผภาณี พูดจาภาษาดอกไม้ ฟังแล้วสบายหู 3. คูถภาณี คำพูดมีแต่เรื่องเศษสวะ เรื่องที่เสียหายของคนอื่น 

3.อัตถจริยา คือ รู้จักช่วยเหลืองาน ถ้าเราช่วยเขา เดี๋ยวเขาก็ช่วยเรา ถ้ามีโอกาสช่วยใคร ขอให้ช่วยเถิด เพราะกว่าเราจะมาถึงวันนี้ คนอื่นก็ช่วยเหลือเรามาเยอะแล้ว การที่ได้ช่วยเหลือกัน คือ “อัตถจริยา” แปลว่า ประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ ซึ่งมีอยู่ 2 ประโยชน์ คือ ประโยชน์ส่วนตน” และ “ประโยชน์ส่วนรวม” ทั้ง 2 ประโยชน์นี้ ต้องให้เกื้อหนุนกัน   

4.สมานัตตตา คือ รู้จักวางตนให้พอดี เพราะการวางตัวกับการถือตัว แบ่งกันเพียงเส้นด้าย วางตนให้พอดีจึงมีแต่เสน่ห์ ถือตัวมากไปจะกลายเป็นเสนียด เราไม่มีสิทธิไปเปลี่ยนแปลง มีแต่เพียงความเข้าใจคนที่แตกต่าง ด้วยหลักใจที่ว่า “อย่าไล่ใครให้จนตรอก อย่าหลอกใครให้ชอกช้ำ อย่าเหยีบย่ำใครให้ตกต่ำ” 

พระพุทธเจ้าสอนว่า “หากโลกนี้ เหลือคนๆ เดียวที่เราต้องคบหา ถ้าคนๆ นั้นเป็นคนพาล ก็ไม่ควรใกล้ชิด” ดังภาษิตโบราณที่ว่า “ห่างสุนัขให้ห่างศอก ห่างวอกให้ห่างวา ห่างพาลา (คนพาล) ให้ห่างหมื่นโยชน์ แสนโยชน์” 

เจ้าประคุณ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดพระเชตุพนฯ เมตตาสอนธรรมเสน่ห์ไว้ว่า

อยากมีเสน่ห์  แบบได้ดี  มีคนรัก 

พึงรู้หลัก  รักแบ่งให้  ปากใจหวาน 

อย่าใจแคบ  รู้ขวานขวาย  ช่วยการงาน 

วางตัวเหมาะ  ในทุกสถาน  อย่าขาดเกิน

ฝึกเติมน้ำมันตะเกียงด้วยการให้  เขย่าเซียมซีด้วยความรักชื่นชมการแบ่งปัน สะเดาะเคราะห์ด้วยการช่วยเหลืองาน ประพรมน้ำมนต์ด้วยการวางตัวที่เหมาะ ชีวิตนี้จะไม่ทะเลาะกับใคร เทวดาก็ชื่นชม พระพรหมก็สรรเสริญ

เชิญมาธรรม (ทำ) เสน่ห์ ให้ชีวิตมีสุข ครอบครัวร่มเย็นกันไหมคุณโยม? 

………………………………………….

คอลัมน์ : ลานธรรม

โดย : พระสุธีวชิรปฏิภาณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ประธานพระธรรมวิทยากรเครือข่ายธรรมะอารมณ์ดี