ตอนนี้มีความชัดเจน 100% สำหรับศึกเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 6 สงขลา ที่พรรคพลังประชารัฐ ประกาศเปิดหน้าท้าชนพรรคประชาธิปัตย์เจ้าของพื้นที่เดิม โดยไม่สนมารยาทการเมือง

หากกางปฏิทินสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศตั้งโต๊ะเปิดรับสมัครเลือกตั้งซ่อม ระหว่างวันที่ 23-27 ธ.ค. ก่อนเปิดคูหากาเบอร์วันอาทิตย์ที่ 16 ม.ค. เวลา 08.00-17.00 น.

เท่ากับหลังจากนี้เหลือเวลา 3 อาทิตย์ หรือ 504 ชั่วโมง ที่พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะแกนนำรัฐบาล และ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ต้องขับเคี่ยวเร่งลงพื้นที่หาเสียง อย่างหนัก

(1) พรรคพลังประชารัฐ ใช้ยุทธศาสตร์ขยายฐานอำนาจมุ่งลงใต้ ส่งโบ๊ต-อนุกูล พฤกษานุศักดิ์ ทายาทนักธุรกิจแปรรูปยางพาราหมื่นล้านลงท้าชิงเก้าอี้

ประเด็นที่น่าสนใจคือพ่อของ โบ๊ต-อนุกูล คือ เคยเป็นหัวคะแนน ผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการให้ ​นายถาวร​ เสนเนียม เจ้าของพื้นที่ อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ 7 สมัย

(2) พรรคประชาธิปัตย์ ใช้ยุทธศาสตร์รักษาฐานที่มั่นส่ง น้ำหอม-สุภาพร กำเนิดผล รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เข้ารักษาพื้นที่

น้ำหอม-สุภาพร เป็นภรรยา นายเดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.เขต 5 จ.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่พรรคประชาธิปัตย์ ให้ทำหน้าที่ รองหัวหน้าพรรค คุมพื้นที่ ภาคใต้ เพื่อบัญชาการรบเตรียมสู้ศึกเลือกตั้งใหญ่ ก่อนรัฐบาลหมดวาระช่วงต้นปี 2565

หากย้อนดูผลเลือกตั้งปี 2562 สนามสงขลา มีทั้งหมด 8 เขตเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐบุกตียึดพื้นที่เขต 1, 2, 3, 4 ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ รักษาฐานที่มั่น 3 เขต 5, 6, 8 ขณะที่พรรคภูมิใจไทยตีไข่แตกพื้นที่เขต 7

หากโฟกัสเฉพาะพื้นที่เขต 6 สงขลา ครอบคลุมอำเภอคลองหอยโข่ง อำเภอหาดใหญ่ (เฉพาะตำบลบ้านพรุและตำบลพะตง) และอำเภอสะเดา (ยกเว้นตำบลสำนักแต้ว และตำบลสำนักขาม)

ผลเลือกตั้งปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์ ชนะ 28,465 คะแนน ขณะที่ พรรคพลังประชารัฐ ตามมาเป็นอันดับสอง 19,317 คะแนน มีส่วนต่าง 9,148 คะแนน

เอาเป็นว่ามองข้ามชอตไปเลย ศึกเลือกตั้งซ่อมเขต 6 สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ มีเดิมพันสูงและต้องทำการบ้านอย่างหนัก

หากชนะ ถือว่าเสมอตัวเพราะเป็นเจ้าของพื้นที่เดิม ทว่าในมุมตรงข้ามหากแพ้จะส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจอย่างหนัก ที่ถูกยึดฐานที่มั่นหัวเมืองปักษ์ใต้ สะท้อนให้เห็นภาพชาวบ้านในพื้นที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงเปิดโอกาสให้ “พรรคพลังประชารัฐ” มี ส.ส.ภาคใต้ 15 ที่นั่ง

นำไปสู่การขยายรอยร้าวระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ที่ต้องเจอด่านสำคัญทั้งเรื่องโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจ และผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ 2566

หลังจากนี้ให้จับตากลยุทธ์ “ซ่อนดาบในรอยยิ้ม” ที่ทั้งพรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ ต้องแสร้งทำเป็นมิตรแต่จ้องหาโอกาสเอาคืนตลอดช่วงอายุขัยรัฐบาล!