เมื่อวันที่ 20 ม.ค. นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะโฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ประเทศไทยเข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีประเทศเอเชีย ด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง ครั้งที่ 4 (The 4th Asia Ministerial Conference on Tiger Conservation) ระหว่างวันที่ 19-21 ม.ค. ณ ประเทศมาเลเซีย ผ่านระบบการประชุมทางไกล (VDO Conference) เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง ร่วมกับประเทศที่เป็นถิ่นอาศัยของเสือโคร่งรวม 13 ประเทศ ซึ่งประเทศไทยถือได้ว่าเป็นต้นแบบของการอนุรักษ์และฟื้นฟูเสือโคร่ง เนื่องจากสามารถเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งในป่าธรรมชาติได้เป็นผลสำเร็จ

นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรฯ ได้มอบหมายให้ตน พร้อมด้วย นางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีประเทศเอเชีย ด้านการอนุรักษ์เสือโคร่งฯ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และนำเสนอผลสำเร็จของการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งของประเทศไทย (Country report) แก่ประเทศอื่น ๆ และร่วมพิจารณาร่างแถลงการณ์กัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการอนุรักษ์เสือโคร่ง (Draft Kuala Lumpur Joint Statement on Tiger Conservation) รวมถึงร่วมจัดทำแผนปฏิบัติการ South East Asia Tiger Recovery Action Plan (STRAP) และแผนงบประมาณเพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่ง (Financing Plan for Tiger Conservation)

โดยในวันที่ 21 ม.ค. เวลา 13.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ผู้แทนระดับรัฐมนตรีของแต่ละประเทศจะเข้าร่วมการประชุม โดยมีรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ ประเทศมาเลเซีย เป็นประธานการประชุม และการกล่าวถ้อยแถลงโดยรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมประเทศภูฏาน ในฐานะประธาน Global Tiger Forum (GTF) ในส่วนของประเทศไทย จะมีการกล่าวถ้อยแถลงโดย นายวราวุธ ซึ่งที่ประชุมกำหนดให้รัฐมนตรีของประเทศที่เป็นถิ่นอาศัยของเสือโคร่ง กล่าวถ้อยแถลงประเทศละ 3 นาที จากนั้น นายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซียจะกล่าวถ้อยแถลง (Officiating Speech) และเปิดตัวดำเนินการเรื่อง Kuala Lumpur joint Statement on Tiger Conservation / Resource Mobilization Assessment/ STRAP และแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน

ทั้งนี้ประเทศไทย เป็น 1 ใน 13 ประเทศที่เป็นถิ่นอาศัยของเสือโคร่ง การเข้าร่วมประชุมการอนุรักษ์เสือโคร่ง จะทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์ในการร่วมดำเนินงานเพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่ง และได้รับการยอมรับในการเป็นผู้นำกลุ่มประเทศในเอเชีย ที่ให้ความสำคัญในการส่งเสริมการอนุรักษ์เสือโคร่งและสัตว์ป่าชนิดอื่นที่ใกล้สูญพันธุ์ของโลก ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษาวิจัยและการอนุรักษ์เสือโคร่งร่วมกับนักอนุรักษ์ระดับโลก ได้เป็นสมาชิกเครือข่ายการอนุรักษ์ระดับโลก ในการป้องกันการลักลอบล่าและการค้าเสือโคร่งและสัตว์ป่าชนิดอื่นที่ผิดกฎหมาย มีแผนการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งที่มีมาตรฐานระดับสากล ได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและสัตว์ป่าที่สำคัญชนิดอื่น จากกองทุนและองค์กรอนุรักษ์ระดับโลก และเป็นศูนย์กลางในการวิจัยการสร้างระบบติดตามประเมินประชากรเสือโคร่ง และการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์และวิจัยเสือโคร่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกอีกด้วย.